หน้าแรก


กิจกรรมจิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายใน  โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
วัน
ช่วงชั้น 1 (อ.1-ป.3)
                  ช่วงชั้น 2  (ป.4-6)
ช่วงชั้นมัธยม  (ม.1-3)
รูปแบบกิจกรรม
รูปแบบกิจกรรม
รูปแบบกิจกรรม
จันทร์
วัสดุธรรมชาติ  สื่อ อุปกรณ์ต่างๆ
วัสดุธรรมชาติ  สื่อ อุปกรณ์ต่างๆ
มุมมองการคิด /ใคร่ครวญ
อังคาร
บูรณาการวิชาต่างๆ  เช่น  ไทย  คณิต  E
บูรณาการวิชาต่างๆ  เช่น  ไทย  คณิต  E
การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีสติ (รำกระบอง)
พุธ
โยคะ
ศิลปะ  ดนตรี
ศิลปะ ดนตรี
พฤหัสบดี
ศิลปะ  ดนตรี
โยคะ
วรรณกรรม  นิทาน  เรื่องเล่า  ประสบการณ์
ศุกร์
วรรณกรรม  นิทาน  เรื่องเล่า  ประสบการณ์ 
วรรณกรรม  นิทาน  เรื่องเล่า  ประสบการณ์ 
วัสดุธรรมชาติ  สื่อ  อุปกรณ์ต่างๆ


จิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายใน   

           การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนเพื่อไปให้ถึงปัญญา


            ปัญญาเป็นความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือการเข้าใจถึงแก่นแท้ของสิ่งใดๆ


            ความมีปัญญา  คือ  ภาวะที่หลุดออกจากความไม่รู้และหลุดออกจากสิ่งครอบงำหรือสิ่งยึดเหนี่ยวทั้งมวลได้ด้วย 

            การหลุดออกจากสิ่งไม่รู้หรือสิ่งครอบงำ  จิตวิญญาณย่อมเป็นอิสระ  



             อิสระย่อมเป็นสุข


            “การมีความรู้มากไม่ได้ทำให้มีความสุขมากขึ้น  ความรู้อาจเป็นได้ทั้งเครื่องมือช่วยคนอื่น หรือ เครื่องมือสำหรับหาประโยชน์จากคนอื่น

            การจัดการศึกษาจำเป็นต้องสร้างการเรียนรู้อย่างองค์รวมเพื่อพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวม  ให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์   และสมดุล  ถึงพร้อมด้วยปัญญาภายในและปัญญาภายนอก

          ปัญญาภายใน  ที่หมายถึง  ความเข้าใจต่อตัวเอง  ต่อชีวิต  ต่อโลกและจักรวาล  การอยู่อย่างมีเจตจำนงอย่างมีความหมายทั้งต่อตัวเองและต่อสรรพสิ่ง  เป็นทั้งความฉลาดทางจิตวิญญาณ  (Spiritual)  และความฉลาดทางด้านอารมณ์ (Emotion)

          ปัญญาภายนอก  ที่หมายถึง  ความเข้าใจต่อโลกภายนอกทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินชีวิตให้อยู่ได้หรืออยู่ได้อย่างมีคุณภาพ

            จากเด็กแรกเกิดจนถึงวัยทำงานมีความจำเป็นต้องเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ  ภายนอกในอัตราเร่ง  เพราะเมื่อแรกเกิดความเข้าใจของเรามีค่าเท่ากับศูนย์จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นว่ามันคืออะไร  มีองค์ประกอบ  มีระบบ  หรือมีกลไกอย่างไร  เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและการงาน  แต่เมื่อเรามีอายุมากขึ้นมีประสบการณ์มากขึ้น  มีความรู้ที่จำเป็นเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตและการงาน  เราก็จะรู้ว่าตนเองมีความจำเป็นต่อการขวนขวายหาความรู้ภายนอกน้อยลงเป็นลำดับ  แต่กลับจะต้องการความเข้าใจต่อตนเอง  ต่อชีวิต  ต่อความเป็นมนุษย์  และต่อความหมายของการดำรงอยู่มากขึ้น  มากขึ้น  ในวัยชราเรายิ่งต้องการปัญญาภายในมากขึ้นอีก  (ดังกราฟ)

             ชีวิตคืออะไรล่ะ 

            เกิดมาทำไม 

            ดำรงอยู่ไปเพื่ออะไร

            จะอยู่อย่างมีความหมายและมีความสุขอย่างไร 

            ไม่ว่าเราจะอยู่อย่างไร  ทำงานอะไร  ตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหน ร่างกายแข็งแรงหรือไม่  ในที่สุดวันหนึ่งเราจะได้เจอคำถามใหญ่ในชีวิตที่ยากต่อการตอบอย่างนี้  ดูเหมือนอาจจะไร้สาระที่จะตั้งคำถามเหล่านี้แต่แท้จริงแล้วจักรวาลได้ซ่อนปริศนาเหล่านี้ไว้ในทุกอณูเซลล์ของมนุษย์เพื่อให้ไม่วันใดก็วันหนึ่งเราจะต้องได้พบคำถามเหล่านี้
            การได้เจอคำถามใหญ่ในชีวิตเป็นสิ่งวิเศษ  ถึงแม้พวกเราบางคนจะค้นหาคำตอบกันแทบตาย  แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้อะไรเลยก็ตามแต่นั่นก็ไม่ได้สูญเปล่า  คำถามใหญ่จะทำให้เราได้เริ่มต้นการใคร่ครวญครั้งใหญ่  ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับตนเอง  ใคร่ครวญเกี่ยวกับผู้คนและสรรพสิ่ง  ซึ่งเป็นกระบวนการภายในที่จะปรับเข็มทิศชีวิตมุ่งไปหาสิ่งจริงแท้  (สัจจะ)
            เราจะพบว่าคำถามใหญ่ๆ  เหล่านี้ไม่อาจตอบได้จากองค์ความรู้ต่างๆ  ที่เราร่ำเรียนมาเพียงอย่างเดียวและมันก็ไม่มีคำตอบแบบตรงๆ  หรือคำตอบที่เป็นรูปแบบตายตัว  ผู้คนจึงต้องแสวงหาคำตอบด้วยตัวเองซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีลองผิดลองถูก  นั่นหมายถึงต้องใช้เวลามาก  และมีโอกาสผิดพลาดสูง
            จะดีกว่าไหมถ้าจะให้การเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะปัญญาภายในให้กับเด็กๆ  ตั้งแต่ยังเล็ก  เพื่อจะช่วยให้เด็กๆ  ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับตัวเองเร็วขึ้น  ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตและสรรพสิ่ง  เพื่อจะได้พบคำตอบของคำถามเหล่านั้นได้เร็วขึ้น
            แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะกรอบความคิดเดิมของการศึกษายังให้ความสำคัญกับความรู้นอก จะเห็นจากหลักสูตรแกนของแต่ละประเทศที่มี  8-9  วิชานั้นมุ่งสร้างความเข้าใจต่อเนื้อหาหรือปัญญาภายนอกเป็นส่วนใหญ่  ทั้งยังมุ่งวัดผลและตีค่าเฉพาะปัญญาภายนอกเท่านั้น
            หากเด็กบางคนที่พยายามตั้งใจเรียนวิชาต่างๆ  อย่างดีที่สุดตั้งคำถามกับผู้ใหญ่อย่างเราบ้างว่า  ถ้าตั้งใจเรียนให้ดี  เรียนจนจบปริญญา  จนมีงานที่มั่นคง  มีครอบครัว  มีบ้าน  นั่นจะทำให้ชีวิตมีความสุขใช่หรือไม่

            เราคงไม่กล้าตอบอย่างฟันธงได้เลยว่า  ใช่  นั่นเพราะเรารู้ว่าอนาคตมันเป็นเพียงความน่าจะเป็นเท่านั้นและสิ่งที่กล่าวถามข้างต้นนั้นเป็นเพียงส่วนผสมอย่างละเล็กอย่างละน้อยไม่ใช่ปัจจัยที่มีน้ำหนักมาก  ความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหรือปัญญาภายในนั้นสำคัญ   กว่าสิ่งที่เกิดขึ้น
            แน่นอนล่ะว่าวันหนึ่งๆ  จะมีสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเรามากมาย  เราต้องผ่านความทุกข์หรือความสบายใจต้องสูญเสียหรือได้รับ ต้องมีพลาดหวังหรือสมหวัง  มีการเจ็บป่วยหรือแข็งแรง  ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ  อยู่แล้ว  เราจะต้องทำอย่างไรหรือจะต้องเป็นอย่างไรจึงจะปกติสุข  ความเป็นปกติสุขไม่ได้หมายความว่าจะต้องจัดการไม่ให้เหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้น  แต่หมายถึงการไปให้ถึงความเข้าใจต่อแก่นแท้

            เป้าหมายระดับสูงของการศึกษา

           คือ  การดำเนินชีวิตที่มีความหมายและมีความปกติสุข  ซึ่งประกอบด้วยความยินดีหรือความพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นรวมทั้งการเห็นคุณค่าในสิ่งต่างๆ  และการมีเป้าหมายที่ดีงาม

          จิตศึกษา  เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาปัญญาภายใน  เพื่อการเข้าถึงความเข้าใจต่อแก่นแท้
          หน่วยบูรณาการที่เป็นแบบ  Active Learning  อย่าง  PBL  (Problem Based Learning)  เป็นนวัตกรรมพัฒนาปัญญาภายนอกเพื่อความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ  จนเข้าถึงความเข้าใจต่อแก่นแท้
  



                โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  เป็นโรงเรียนการกุศลเรียนฟรีมีเป้าหมายเพื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่างด้วยการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนและนวัตกรรมองค์กร  ดังนี้

            1.  นวัตกรรมสำหรับการเรียนการสอนเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขในศตวรรษที่21  และจากการที่ทดลองและพัฒนามากว่า  10  ปี  จึงได้นวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนที่สำคัญสองนวัตกรรมคือ
                        1)  จิตศึกษา  ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนไปถึงปัญญาภายใน  ได้แก่  การมีจิตใหญ่เพื่อรักได้อย่างมหาศาล  การเคารพคุณค่าตัวเองและคนอื่น  เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างภราดรภาพการมีสติชำนาญเพื่อเท่าทันอารมณ์  การมีสมาธิเพื่อกำกับความเพียรให้สำเร็จ  การมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น  เป็นต้น 
                        2)  หน่วยบูรณาการที่ใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้หรือ  PBL  (Problem  Based  Learning)”  ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เป็น Active  Learning  ที่จะทำให้ผู้เรียนไปถึงปัญญาภายนอกได้  อาทิ เช่น  Reading  comprehension,  Writing,  Arithmetic  ICT skills, Thinkingskills,  Life  &  Career  skills,  Collaboration  skill  and  Core subject

            2.  พัฒนานวัตกรรมสำหรับองค์กรเพื่อมุ่งการพัฒนาครูและ พัฒนาองค์กรที่เรียกว่า ชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ  (PLC ProfessionalLearning Community)  ซึ่งมีองค์ประกอบสองส่วนที่สำคัญคือการสร้างความเป็นชุมชนให้เกิดขึ้นในองค์กร  และการจัดให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหลากหลายระหว่างกัน  เป้าหมายสำคัญของ PLC  คือ  การสร้างการเรียนรู้ของครูร่วมกันเพื่อให้ทุกคนได้ยกระดับความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่จะสอน  มีทักษะการจัดการเรียนการสอนและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู

            การใช้พลังเพื่อทำงานหรือเพื่อเปลี่ยนสภาวการณ์ที่ดำรงอยู่ให้ดีขึ้น  สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยปัญญาภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ  การเรียน  แพทย์  การทำโต๊ะ  การเล่นกีฬา  การทำอาหาร  ต้องทำอย่างเอาการเอางาน  (Active)  จึงสำเร็จ  การใช้พลังเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่มุ่งไปยังเป้าหมายภายนอก  ซึ่งอาจมีแรงจูงใจมาจากความปรารถนาที่จะดำรงอยู่ให้ได้  หรืออาจมีแรงผลักดันหรือแรงจูงใจมาจากความเหงา  ความโดดเดี่ยวที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดหรือด้วยแรงของความอยาก  เช่น  ความทะเยอทะยานในตำแหน่ง  ความโลภในเงิน  หากจะพิจารณาให้ดีแล้วกิจกรรมเหล่านี้อาจดูเหมือนว่าเขาเป็นผู้กระทำแต่แท้จริงเขาเป็น  ผู้ถูกกระทำ

            การใช้พลังเพื่อการแสวงหาความเข้าใจแห่งตน  หรือความหมายของการดำรงอยู่  อาจดูเหมือนเขาเหล่านั้นไม่ทำอะไรเลยทั้งเฉื่อยชา  (Passive)  แต่ความจริงการรวมศูนย์สมาธิ  การใคร่ครวญ   เป็นกิจกรรมขั้นสูง  เป็นกิจกรรมทางจิตวิญญาณ  ซึ่งจะเป็นไปได้จริงๆต้องให้ด้านในมีอิสระภาพ  อันจะส่งผลต่อการก่อเกิดปัญญาภายใน



จิตศึกษาโรงเรียนนอกกะลา


                   จิตศึกษา  เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  ตั้งแต่ปี  2546  เพื่อให้เป็นทั้งแนวคิดและกระบวนการในการพัฒนาผู้เรียนและยกระดับความเป็นครู  เพื่อการเรียนรู้และงอกงามด้านใน  ทั้งความฉลาดทางด้านอารมณ์และความฉลาดด้านจิตวิญญาณเริ่มต้นในปีแรกๆ  นั้น  กระบวนการจิตศึกษาในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมเด็กให้สงบ  ผ่อนคลายให้อยู่ในภาวะคลื่นสมองต่ำ  และให้กลับมารู้เนื้อรู้ตัวก่อนการเรียนทุกวัน  ผลจากการดำเนินกระบวนการและกิจกรรมของจิตศึกษาได้แล้วหนึ่งปี  เราก็พบว่าเด็กทุกคนสงบได้ง่ายขึ้น  จิตใจที่สงบก็จะนำมาซึ่งการรับฟังกันได้อย่างลึกซึ้ง  เกิดการใคร่ครวญได้บ่อยขึ้น  รับรู้ ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นได้ว่องไว  สามารถรับรู้และเชื่อมโยงตนเองกับคนอื่นหรือสิ่งต่างๆ  ได้ง่ายขึ้นจนเห็นคุณค่าของสรรพสิ่งความสงบและการใคร่ครวญยังสร้างการน้อมนำสิ่งที่ดีงามเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก  หลังจากนั้นจึงได้พัฒนากระบวนทัศน์  องค์ประกอบกระบวนการและกิจกรรมขึ้นมาเป็นลำดับ  จนในที่สุดเราก็พัฒนาเป็นจิตศึกษา  ในปี  .. 2548 
            ปัจจุบันได้พบว่าเมื่อครูใช้กระบวนการจิตศึกษาเพื่อขัดเกลาเด็ก  ในขณะเดียวกันนั้นครูก็ได้ขัดเกลาตนเองไปด้วย  จิตศึกษา”   จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของโรงเรียนในการพัฒนาครู  เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของครูให้มี  หัวใจของความเป็นครู  อย่างแท้จริง  ส่วนในตัวเด็กกระบวนการจิตศึกษาได้ยกระดับความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ  และความฉลาดด้านอารมณ์จนมีโอกาสที่จะไปถึงปัญญาภายในในที่สุด
            จิตศึกษา  เป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาปัญญาภายใน  ซึ่งทำงานกับสมองชั้นกลาง  และสมองชั้นนอก  เมื่อใช้กับผู้เรียนด้วยกระบวนการและวิธีการของจิตศึกษาจะเป็นการค่อยๆ  สร้างการก่อรูปคุณลักษณะของปัญญาภายในขึ้น  การฝึกฝน  และการใช้ซ้ำๆ  จะทำให้รูปของคุณลักษณะนั้นคงตัว
            สมองชั้นในเกี่ยวกับความอยู่รอด  เป็นสมองสัตว์เลื้อยคลา(Reptilian brain)  ทำงานตามสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอดไม่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกหรือความดีงาม  เช่น  จระเข้อาจกินลูกของตัวเองได้เมื่อมันหิว
            สมองชั้นกลางเกี่ยวกับอารมณ์  (Limbic brain) เป็นสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  ทำงานเกี่ยวกับความรู้สึกหรือความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ
            สมองชั้นนอก  (Neo-cortex)เป็นส่วนที่พอกหนาขึ้นมามากเป็นสมองแห่งความเป็นมนุษย์ ทำหน้าที่ที่ละเอียดอ่อน  เช่น  คิดเรื่องที่เป็นนามธรรม  ความงาม ความดี  ความจริง  มิติทางวัฒนธรรมและมิติจิตวิญญาณ  สมองส่วนนี้ช่วยสร้างโอกาสให้มนุษย์สามารถพัฒนาจิตวิญญาณไปสู่การมีความรักอย่างไพศาลทั้งต่อเพื่อนมนุษย์และต่อสรรพสิ่ง  มีอิสระหลุดพ้นจากการบีบคั้นหรือเครื่องครอบทางจิตวิญญาณและทางปัญญา  จนมีความสุขอันประณีต

            สมองทั้งสามชั้นทำงานกันคนละหน้าที่แต่ทำงานเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  เช่น  เมื่อเด็กรู้สึกถูกคุกคาม  สมองชั้นในของเด็กจะทำงานก่อนด้วยการเข้าสู่ภาวะปกป้องตัวเองหรือการเอาตัวรอดจนอาจทำให้สมองส่วนอื่นๆ  ทั้งส่วนการเรียนรู้  คุณธรรม  ความรัก  หยุดทำงานแต่ถ้ากระตุ้นสมองชั้นนอกด้วยการสร้างสัมพันธภาพเชิงบวกให้เด็กได้เกิดอารมณ์เชิงบวก  รู้สึกได้รับคุณค่า  เมื่อนั้นสมองส่วน  หน้าและสมองส่วนกลางก็จะทำงานได้ดี

            คุณลักษณะของผู้เรียนที่บ่งบอกว่าผู้เรียนได้เกิดการก่อรูปของปัญญาภายในขึ้น  เราอาจสังเกตได้จากสิ่งเหล่านี้ 

          -  รู้ตัวไวหรือการมีสติ  ผู้เรียนสามารถกลับมารู้ตัวเองได้ด้วยตัวเองอยู่เสมอ  รู้เท่าทันความคิดหรือ อารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุด  หรือไปต่อกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่  เมื่อมีภาวะรู้ตัวไวก็จะสามารถจัดการ    อารมณ์ตนเองได้รวดเร็วเช่นกัน  บรรยากาศเพื่อการกล่อมเกลาให้เกิดภาวะรู้ตัว หรือ กิจกรรมที่ฝึกฝนสติต้องไม่ฝืนกับธรรมชาติของเด็กๆ   แต่ละวัยด้วย  ซึ่งจะมีรายละเอียดภายในหนังสือเล่มนี้ 

          -  การมีสัมมาสมาธิ  สามารถตั้งใจมั่น  จดจ่อเพื่อกำกับให้การเรียนรู้ของตน  หรือการทำภาระงาน ของตนเองให้สำเร็จลุล่วงได้ทั้งมีความอดทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

          -  การรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง  (รู้ตัว)  และผู้อื่นได้อย่างว่องไว  และกลับมาอยู่กับ การใคร่ครวญตัวเองได้เสมอๆ

          -  การเห็นคุณค่าในตัวเอง  คนอื่น  และสิ่งต่างๆ  เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย  ซึ่งการเห็นคุณค่าก็จะนำมาสู่การเคารพสิ่งนั้น

          -  การอยู่ด้วยกันอย่างภารดรภาพ  ยอมรับในความแตกต่าง  เคารพและให้เกียรติกัน  การมีวินัย  มีความรับผิดชอบต่อตนเองและ          ส่วนรวม  อยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย

          -  การเห็นความสัมพันธ์และเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่างๆ  นอบน้อมต่อสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่ 











กระบวนทัศน์ของจิตศึกษาประกอบด้วยฟันเฟืองสำคัญสามอย่าง  ได้แก่
            1.  ความเป็นชุมชน  ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่และบรรยากาศที่เสมือนเป็นเบ้าหลอมใหญ่
            2.  จิตวิทยาเชิงบวก  ซึ่งเป็นวิธีการที่เน้นชี้ถูก  และการ  เป็นแบบอย่าง
            3.  กิจกรรมซึ่งเป็นเครื่องมืออันหลากหลายที่ใช้ฝึกฝน


                              1.  การสร้างความเป็นชุมชน


        ปัจจัยเบื้องต้นของจิตศึกษา
            สามองค์ประกอบที่สำคัญของความเป็นชุมชน  ได้แก่
            1.  สภาพแวดล้อม
            2.  สัมพันธภาพ
            3.  ความมีวิถีหรือวัฒนธรรมองค์กร

        1.  สภาพแวดล้อม
             ด้วยสภาพสังคมที่เป็นอยู่  ผัสสะของเด็กๆ  มักถูกรุมเร้าด้วยสภาพแวดล้อมด้านลบตลอดเวลา  อย่างอาหาร  อากาศที่ไม่ปลอดภัย  พื้นที่ที่น่าอึดอัด  ทั้งภาพและเสียงการโฆษณาชวนเชื่อต่างก็พุ่งตรงไปที่พวกเขา  ผู้ซึ่งมีเครื่องมือต่อกรอันอ่อนแอ  การคุกคามสิทธิ์และสวัสดิภาพเกิดขึ้นเสมอทั้งต่อหน้าและลับตา  จิตวิญญาณของพวกเขา   จึงถูกกดทับบีบคั้น  มีโอกาสน้อยที่จะได้อยู่อย่างสงบเงียบและรื่นรมย์  สิ่งแวดล้อมที่ดีจะทำให้โรงเรียนมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของทุกคน  ไม่จำเป็นต้องรื้อเพื่อสร้างใหม่  แต่ทำให้สะอาด ร่มรื่น  และปลอดภัย  ความสะอาดจะทำให้สบายใจ  ความร่มรื่นจะนำมาสู่ความรู้สึกผ่อนคลายและสงบ  ยิ่งถ้าให้ได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทั้งดิน  ลม  แสงแดด  ต้นไม้  ก็ยิ่งทำให้พลังชีวิตได้ทำงาน  และที่สำคัญต้องให้โรงเรียนเป็นที่ที่ปลอดภัยอยู่ห่างไกลจากสิ่งรบกวนภายนอก  เช่น เสียงดัง  มลพิษ  ร้านเกม  ห้างสรรพสินค้า  ทั้งปลอดภัยจากอาหาร  เช่น  ปลอดภัยจากน้ำตาล  โซเดี่ยมจากขนมขบเคี้ยว  และดีที่สุดคือให้เด็กๆ  ปลอดภัยจากการถูกกระทำทั้งทางร่างกาย  จิตใจ  และจิตวิญญาณ  เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เด็กๆ  ได้อยู่ในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนเมล็ดพันธุ์ที่ดีในจิตให้เติบโต

            ครูเป็นหนึ่งในสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ของเด็ก  ครูบางคนไม่จำเป็นต้องสอนด้วยซ้ำไป  แต่ก็สามารถบ่มเพาะปัญญาภายในให้กับผู้เรียนได้  ด้วยที่เซลล์กระจกเงาในสมองของเด็กๆ  นั้น  ทำงานอยู่ตลอดเวลา  การที่เด็กๆ  ได้อยู่กับครูที่สงบ  อารมณ์มั่นคง มีเหตุผล  มีเมตตา  มีการตั้งคำถามที่นำไปสู่การใคร่ครวญ เด็กๆ  ก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้น  ยิ่งถ้าเด็กรู้สึกได้รับความรักความเมตตา   เสมอเทียมกันเด็กก็จะยิ่งรู้สึกปลอดภัยไม่รู้สึกว่าถูกคุกคาม  ความมั่นคงทางจิตใจของเด็กก็จะเกิดขึ้น  นั่นยิ่งกระตุ้นการเรียนรู้และแรงจูงใจเชิงบวกได้อย่างดี

            ครูจึงเป็นศูนย์กลางการพัฒนา  ความสำเร็จของการศึกษา เกิดจากครูที่มีคุณภาพและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู  แบบอย่างที่ดีจะถูกสื่อและถ่ายทอดผ่านความเป็นกัลยาณมิตรสู่ผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นความเสียสละ  ทุ่มเท  อดทน  มุ่งมั่น  รับผิดชอบ  รักอย่างไม่มีเงื่อนไข  และปรารถนาดีที่จะเห็นผู้เรียนเติบโต  เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม

            งานครูเป็นงานอันประเสริฐเพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการ สร้างสรรค์ความเป็นมนุษย์  เพราะปัญหาที่ท้าทายมนุษย์มิได้มีเพียงเรื่องวิชาความรู้และการประกอบอาชีพเท่านั้น  แต่อยู่ที่ความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติด้วย  ครูในบทบาทใหม่จึงเป็นผู้มีหน้าที่กระตุ้นและอำนวยการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  ไม่ใช่ผู้ให้ความรู้ ถ้ามีครูดีและเก่งก็เชื่อได้ว่าเด็กจะออกมายอดเยี่ยมด้วย 

            นำมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเกื้อหนุนให้เกิดบรรยากาศต่อการพัฒนาครู  ด้วยการสร้างเป็นชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพขึ้นมา  PLC (Professional Learning Community)  ซึ่งจะเป็นที่ที่ครูจะได้ช่วยกันพัฒนากระบวนการและวิธีการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน  ทั้งเป็นการยกระดับความรู้ความเข้าใจ  ทักษะ  และจิตวิญญาณของความเป็นครูไปพร้อมกัน

            ครูไม่ได้วางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  (หรือแผน การสอน)  ก่อนการสอนแล้วจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดีได้  อย่างไร  หรือ  การคิดวางแผนตามลำพังจะดีกว่าครูหลายคน     มาร่วมกันคิดได้อย่างไร

            หลังจากการสอน  ครูแต่ละคนจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเอง    สอนได้ผลหรือไม่  ถ้าไม่ได้รับการสะท้อนที่ดีจากเพื่อนครู หรือเพื่อนครูจะมีโอกาสได้เรียนรู้ประสบการณ์การสอนจากอีกคนได้อย่างไร  ถ้าไม่มีกิจกรรมถอดบทเรียนหรือกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในกลุ่ม

ทั้งหมดนั้นแก้ปัญหาได้ด้วย  PLC  (Professional  Learning Community)

 PLC  (Professional  Learning Community)

            PLC  จะช่วยยกระดับความรู้ความเข้าใจของครูแต่ละคน  ทั้ง  มิติความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่จะสอนและความรู้ความเข้าใจต่อการสอน  เช่น  หลักสูตร จิตวิทยาการสอน  การออกแบบกิจกรรม  การวัดและประเมินผล  เป็นต้น

            PLC  ช่วยยกระดับทักษะของครูแต่ละคน  เช่น  ทักษะการออกแบบการเรียนรู้  ทักษะการสื่อสาร  ทักษะ ICT  ทักษะการวัดและประเมินผล  ตลอดจนทักษะชีวิต  เช่น  ทักษะการจัดการความขัดแย้ง   ทักษะการจัดการอารมณ์  ทักษะการอยู่ร่วมกัน เป็นต้น

            PLC  ช่วยให้ครูแต่ละคนค้นพบความหมายของชีวิต  ความหมายของการเป็นครู  รู้สึกถึงคุณค่าของงานครู  เห็นเป้าหมายที่สำคัญร่วมกัน  เป็นบุคคลและองค์กรการเรียนรู้ทำงานเป็นทีม  มีความเป็นกัลยาณมิตร  นั่นคือถึงความมีอุดมการณ์นั่นเอง

องค์ประกอบของ  PLC

            1.  การเตรียมองค์กร  เตรียมสภาพแวดล้อมให้สะอาด  ร่มรื่น  ปลอดภัย  และ สัปปายะ
            2.  ก่อรูปวัฒนธรรมองค์กรใหม่  การร่วมกันกำหนดเป้าหมายองค์กรและข้อตกลงเบื้องต้น   การออกแบบกิจกรรมเพื่อลดลำดับชั้นให้น้อยลง  เป็นองค์กรระดับราบมากยิ่งขึ้น  และสร้างกลไกให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เสมอทั้งเป็นกลไกที่ดึงดูดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการด้วย  เช่น  การกำหนดช่วงเวลา สถานที่  หัวข้อ  ผู้เข้าร่วม  และผู้นำวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละครั้ง  ซึ่งผู้นำหรือผู้บริหารเป็นองค์ประกอบสำคัญมากในขั้นตอนนี้
            3.  กิจกรรม  PLC
            -  Dialogue  หรือ  กระบวนการสุนทรียสนทนาเพื่อเรียนรู้  เพื่อการเรียนรู้กันและกันด้วยการคุยกันในระดับราบ  เน้นการฟังอย่างรู้เท่าทันจิตใจของตนเอง  เพื่อการขจัดการตัดสินที่เกิดขึ้นขณะฟัง  การฟังนั้นก็จะเต็มไปด้วยความกรุณาต่อกัน  ทุกคนจะมีโอกาสรับเนื้อความได้อย่างครบถ้วนทั้งมิติและเนื้อหา  ตัวอย่างหัวข้อคำถามเพื่อ  Dialogue  เช่น  ห้าปีที่แล้วเราเห็นองค์กรเราเป็นอย่างไร  อีกห้าปีข้างหน้าเราอยากเห็นองค์กรเราเป็นอย่างไร  อะไรที่หล่อหลอมให้เรา    กลายเป็นคนแบบนี้  เราอยู่ตรงไหนของจักรวาล  เราเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ  รอบตัวอย่างไร  เป็นต้น 
            -  Lesson Study  เป็นกระบวนการร่วมกันพัฒนากิจกรรมการสร้างการเรียนรู้ของกลุ่มครู  ตัวอย่างหัวข้อคำถามเพื่อ  Lesson  Study เช่น  ทำอย่างไรที่จะให้องค์กร  (โรงเรียน)  พัฒนาปัญญาภายในให้กับผู้เรียน  กิจกรรมฝึกฝนการรู้ตัวมีอะไรบ้าง  ทำอย่างไรบ้างกับ เด็กแต่ละวัย  การฝึกให้เด็กได้ใคร่ครวญควรมีกิจกรรมใดบ้าง  การฝึกฝน  Dialogue  มีกระบวนการอย่างไร  เป็นต้น
            -  S&L  (Share & Learn)  แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวจากหน้างานของกันและกัน  เน้นการอภิปรายร่วมกันอย่างสร้างสรรค์โดยมีเจตจำนงที่ดีต่อการทำให้งานพัฒนาขึ้น หรือเด็กๆ  ได้รับการพัฒนาขึ้น  อาจทำเป็นคู่เป็นกลุ่มย่อย และเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งองค์กร  ตัวอย่างหัวข้อคำถามเพื่อ  S&L  เช่น  อะไรคือปัญหาหรือสิ่งที่เราต้องการพัฒนา  ทำอะไรบ้าง  ทำอย่างไร  ผลเป็นอย่างไร  อะไรที่ยืนยันว่าเราได้พบผลเช่นนั้น  เราสามารถทำ          อะไรได้บ้าง  เป็นต้น
            -  AAR  (After Action Review)  เป็นการร่วมกันอภิปราย สรุปในแต่ละแง่มุมหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมเพื่อทำให้เกิดการใคร่ครวญ หรือการทบทวนต่อเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างหัวข้อคำถามเพื่อ  AAR  เช่น  เห็นอะไร  รู้สึกหรือคิดอย่างไร  อะไรที่เราได้เรียนรู้  เป็นต้น

            การสร้าง  PLC  ยังครอบคลุมถึงเด็กและผู้ปกครองอันเป็น องค์ประกอบสำคัญด้วยทั้งในแง่ของเป้าหมาย  กระบวนการและกิจกรรม  นั่นหมายถึง  PLC  จะสร้างมวลพลังแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับที่คนที่แวดล้อมอยู่ให้วิวัฒน์ขึ้น
  
2.  สัมพันธภาพ

            สัมพันธภาพของคนในชุมชนมีผลอย่างมากต่อบรรยากาศทั้งหมดภายในชุมชน  และเป็นฐานสำคัญของ PLC เราอาจจะพบว่าบางครั้งแม้มีเพียงไม่กี่คนในองค์กรที่ทะเลาะกัน  แต่กลับส่งผลต่อความรู้สึกของคนทั้งหมด  ต่างคนต่างอยู่อย่างระมัดระวังตัว  หรือไม่ก็เฉยชาต่อกัน  ซึ่งไม่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตและต่องานอย่างยิ่ง การสร้างวิถีชุมชน  (วัฒนธรรมองค์กร)  ร่วมกันจะรักษาความสัมพันธ์ที่บางครั้งอาจร้าวฉานให้กลับมาดีได้โดยง่าย  วิถีชุมชนจะก่อให้เกิด   พลังของความลื่นไหลร่วมกัน  ความลื่นไหลไม่ได้หมายถึงการอยู่เฉยโดยไม่มีอะไรทำ  การมีสิ่งที่ต้องทำมากมายตลอดวันก็ทำให้เกิดความลื่นไหลได้  อาการติดขัดหรือความไม่ลื่นไหล  อาจดูได้จากอาการขุ่นมัวในจิตตอนสิ้นวันก็ได้  ความลื่นไหลที่แท้จริงจะนำไปสู่จิตที่มีปีติ

            การหล่อเลี้ยงสัมพันธภาพที่ดีให้คงอยู่ได้เป็นเรื่องละเอียด  ต้องทำกันอยู่เสมอด้วยกิจกรรมของ  PLC  เช่น  มีช่วงวันที่ครูได้  AAR กันสั้นๆ  ทุกวัน  หรือหล่อเลี้ยงด้วยงานประเพณีขององค์กรอย่างหลากหลาย  เรียบง่าย  และแยบยล 

            สัมพันธภาพเป็นสนามพลังงาน  ซึ่งทำงานต่อผู้คนและสิ่งต่างๆ  ทั้งมวลในจักรวาล

            เราแต่ละคนเป็นผู้กำหนดว่าต้องการที่จะสร้างสนามพลังเชิงบวกหรือเชิงลบ

3.  ความมีวิถีหรือวัฒนธรรมองค์กร

            การปฏิบัติในวิถีโรงเรียนจะต้องทำอย่างมีความหมาย  มีเหตุผลและคงเส้นคงวา  ในขณะเดียวกันโรงเรียนยังต้องตระหนักอยู่เสมอว่าผู้ปกครองทุกคนมีส่วนเกื้อกูลต่อความก้าวหน้าของเด็กและงานวิจัยจากทั่วโลกก็ยืนยันว่าความร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครองและครูส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพผู้เรียน  การสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการอย่างหลากหลาย  จะช่วยให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาในเชิงจิตวิญญาณซึ่งเป็นนามธรรม  ในที่สุดผู้ปกครองจะเข้ามามากขึ้น  พร้อมที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในโรงเรียน  เมื่อผู้ปกครองได้เรียนรู้วิถีชุมชนจากบทเรียนที่เกิดขึ้นจริงภายในโรงเรียนผู้ปกครองก็จะนำกลับไปสู่ชุมชนจริงของตนเอง


          ตัวอย่างวิถีชีวิตในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาซึ่งเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล
   
7.30  8.00 .
            -  ระดับชั้นอนุบาลและระดับชั้นประถม  จะให้เด็กได้เล่นร่วมกันในสนามเด็กเล่น  หรือในสนามหญ้า  เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ก็เล่นกระโดดยาง  เด็กผู้ชายบ้างก็เล่นฟุตบอล
            -  ระดับมัธยมดูแลสภาพแวดล้อม  ในโรงเรียน  และห้องเรียน         
            -  เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
            -  เพื่อปลูกฝังจิตสำนึก  ความรับผิดชอบต่อคนอื่น  สิ่งอื่น  และเพื่อส่วนรวม  การทำงานที่มีความหมาย  การจดจ่อ   กับงานที่ทำ

    8.00 - 8.15 .
    กิจกรรมหน้าเสาธง     
            -  พิธีกรรมสำหรับการเริ่มต้นในวันที่มีความหมาย
            -  การแสดงออกถึงการได้ขอบคุณ  การ นอบน้อม  และการมีสติ

    8.15 - 8.50 .
    กิจกรรมจิตศึกษา       
            -  เพื่อพัฒนาความฉลาดในด้านของจิตวิญญาณและความฉลาดด้านอารมณ์  ให้เห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง  การน้อมนำสิ่งที่ดีงามเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก  การเตรียมความพร้อมของนักเรียนให้อยู่ในสภาวะของคลื่นสมองต่ำ  และมีความพร้อมในการเรียน

     8.50 - 12.00 .
     การเรียนในรายวิชาหลัก คณิต  ไทย  อังกฤษ    
            -  ปูพื้นฐานทางวิชาการ  เพื่อนำความรู้ความเข้าใจในรายวิชาพื้นฐานไปเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ  ในระดับที่สูงขึ้น  และสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

     12.00 - 13.00 .           
     พักรับประทานอาหาร

      13.00 - 13.15
            กิจกรรมจิตศึกษาด้วย การทำ  Body  scan  เพื่อการผ่อนพัก  สงบ  ผ่อนคลาย  และเพื่อการได้เห็นตัวเองทั้งกายและใจ

      13.15 - 15.00 .
      เรียนรู้แบบบูรณาการโดย  PBL           
            -  การผสมผสานกันของแต่ละรายวิชาจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงของผู้เรียน  เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายและสอดคล้องกับการใช้จริง
            เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  เช่น  การแก้ปัญหา  การสื่อสาร  การ ทำงานเป็นทีม

      15.00 - 15.30 
       กิจกรรมคนบันดาลใจ
            -  พิธีชา/พิธีนม
            -  การจดการบ้าน  ทบทวนสิ่งที่เรียนรู้
            -  แจกสมุดสื่อสาร         
            -  กิจกรรมคนบันดาลใจ  อ่านหนังสือประเภทวรรณกรรม  ดูหนัง  หรือสารคดีชีวิตของบุคคล  เช่น  รายการคนค้นคน
            -   เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในวิถีทางที่ดีงามเป็นเครื่องขัดเกลาอารมณ์ให้เกิดสุนทรียะเข้าใจวิถีชีวิต ความคิด  และจิตใจของมนุษย์ด้วยกันและเพื่อ   ค้นพบความถนัด  และความสนใจของตนเอง
           -  พิธีกรรม  (พิธีชา  การจัดดอกไม้  การดำเนินชีวิตอย่างมีสติ  อยู่กับปัจจุบัน  นอบน้อม  เชื่อมโยง  การได้ชื่นชมความงามเพื่อการเข้าใจตนเอง  และเห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง
           -  ทบทวนและสะท้อนการเรียนรู้ของ วัน
           -  เพื่อสื่อสารความเข้าใจเรื่องราวหรือกิจกรรมต่างๆ  ระหว่างบ้านกับทางโรงเรียน

        16.00 .
            กิจกรรมครู  S&L,  AAR,  BAR ครูร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้  สรุป หรือเตรียมการสำหรับวันต่อไป             
            วิถีองค์กร  คือ  ขั้นปฏิเวธ  เป็นการกระทำซ้ำที่จะช่วยในการ บ่มเพาะทั้งความมีวินัย  และความรับผิดชอบต่อหน้าที่  ซึ่งเป็นเครื่องมือกำกับตนเองจากด้านในเมื่อกลายเป็นอุปนิสัย  จิตของเด็กจะไม่รู้สึกขัดขืนด้วยเพราะวิถีนั้นมีเหตุผลที่มีความหมายทั้งยังเกิดขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ  ในที่สุดโรงเรียนก็ไม่จำเป็นต้องใช้การควบคุมจากภายนอกเช่น  เสียงระฆัง  กฎ  หรือข้อตกลงร่วมกันจะน้อยข้อไปเอง  ทั้งนี้ครูต้องอยู่ร่วมในวิถีอย่างคงเส้นคงวาเช่นกัน


การออกแบบวิถีชีวิตในโรงเรียนยังต้องคำนึงถึงธรรมชาติ  ของร่างกายและสมอง

            ช่วงเช้าตั้งแต่เด็กมาถึงโรงเรียนจนถึงช่วง  จิตศึกษา  ให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่บ่มเพาะความงอกงามด้านในโดยใช้ฐาน  ใจ” เป็นหลัก  ช่วงสายเป็นการเรียนรู้ที่ใช้ฐาน  สมอง  เป็นหลัก   ช่วงบ่ายให้เด็กได้เรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติคือการใช้ฐาน  กาย” เป็นหลัก

            การดำเนินตามวิถียังต้องระวังความเป็น  Comfort  Zone  หรือ  การติดสุข  ติดอยู่กับความสบาย  ในวิถีจะต้องมีระดับความยากพอต่อการขัดเกลาข้างในนั้นด้วย


                                                                2. การใช้จิตวิทยาเชิงบวก
            ปัจจัยเกื้อหนุนจิตศึกษา   เน้นชี้ถูกและการเป็นแบบอย่าง
             กรอบคิดทางจิตวิทยาเชิงบวกคือ  ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์และบ่มเพาะผู้เรียนให้มีคุณค่าที่ดีงามซึ่งมีอยู่แล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น  โดยปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
            การกระทำที่ควรลด  เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเด็กๆ  ซึ่งมีมาอยู่แล้ว  ทั้งยังเป็นการ   ลดการให้อาหารกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีหรืออารมณ์ด้านลบ  ที่อยู่ภายในจิตของเด็กๆ  เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นไม่เติบโต  เช่น  ความอยาก  ความหยิ่ง  ความลุ่มหลง  ความ    คิดลบ  ความโกรธฉุนเฉียวเจ้าอารมณ์  ความเกลียด  ความท้อแท้  ความอิจฉา  ความกลัว  ความเบื่อหน่าย  เป็นต้น 

            ลดการเปรียบเทียบ  
            เราไม่ควรเปรียบเทียบเด็กๆ  ไม่ว่าจะโดยการพูดหรือการกระทำเพราะไม่มีใครอยากถูกเปรียบเทียบว่าตนเองเป็นผู้ที่ด้อยค่ากว่า  เด็กทุกคนแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างเป็นธรรมชาติของตัวเองจึงไม่ควรเปรียบเทียบพฤติกรรมระหว่างคนสองคน  ถ้าจะชมหรือสะท้อนพฤติกรรมที่ต้องแก้ไขควร กระทำต่อเขาโดยตรง  ไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น  หรือแม้แต่     การทำงาน  เด็กๆ  จะทำชิ้นงานหรือภาระงานที่ครูมอบให้ออกมาอย่างเต็มศักยภาพ  ครูจึงไม่ควรเปรียบเทียบระหว่างเด็กแต่ละคน  แต่ครูมีหน้าที่ที่ต้องรู้ให้ได้ว่าพัฒนาการหรือศักยภาพแต่ละด้านของเด็กว่าอยู่ตรงไหนและหาวิธียกระดับ   ศักยภาพของเขาให้สูงขึ้นให้ได้  ครูไม่มีหน้าที่ตีตราโดยการ    ให้ดาวหรือให้ลำดับแต่สามารถสะท้อนกลับได้ด้วยการชื่นชมหรือการสะท้อนกลับที่ดี  ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจให้กับผู้เรียนได้อย่างดีเช่นกัน   
  
             ลดการตีค่า  ลดการตัดสิน  และลดการชี้โทษ 
            เด็กทุกคนทำชิ้นงานหรือภาระงานออกมาตามศักยภาพของตนเองอย่างไม่เสแสร้ง  งานที่ออกมาจะบอกถึงสิ่งที่เด็กรู้สิ่งที่เข้าใจหรือความสามารถของเด็ก  ครูมีหน้าที่ต้องรู้ว่ายังเหลือส่วนใดบ้างที่เด็กแต่ละคนยังไม่เข้าใจหรือยังไม่มี     ความสามารถเพื่อจะได้ช่วยยกระดับเรื่องนั้นให้สูงขึ้น  คำว่า  ศักยภาพที่สูงขึ้น ไม่ได้มีขีดจำกัด  ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องมีเกณฑ์ใดๆ  มาจับ
            ในการประเมินผู้ประเมินหรือครูต้องมีจิตของพรหมอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก  ความเมตตา  ให้การประเมินเป็นไปเพื่อพัฒนาผู้เรียนไม่ใช่เพื่อการตัดสิน  ใส่ความห่วงใยไว้   ทุกๆ  การประเมิน

            พฤติกรรมของเด็กๆ  ก็เช่นเดียวกัน  การที่ครูเห็นว่าเขาผิดเพราะเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างจากกรอบความเชื่อของครูอันเกิดจากกรอบจารีต  ค่านิยม  หลักศีลธรรม  กฎหมาย ข้อตกลงร่วมกัน หรือ กาลเทศะ  แม้บางกริยาของเด็กอาจ  ก่อกวนอารมณ์ให้ครูต้องฉุนเฉียว  แต่ครูก็ไม่ควรเล่นบทของ   พระเจ้าที่มีอำนาจคอยเป็นผู้ชี้ถูกผิด  และชี้โทษอยู่ร่ำไป       แท้จริงแล้วเด็กแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกไปอย่างไม่รู้ หรือไม่ก็เพราะความไม่รู้ตัว  เพียงครูแสดงอาการตอบสนองให้เขารู้ตัว  เช่น  การนิ่ง  หรือครูตั้งคำถามกลับเพื่อให้เด็กได้รู้ตัว  เมื่อรู้ตัวชั่วขณะนั้นเด็กก็จะกำกับตัวเองได้และหยุดพฤติกรรมนั้นได้ชั่วขณะ  แต่ชั่วขณะนี้กลับสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของสมองส่วนหน้า  ซึ่งเป็นสมองส่วนที่กำกับ  การแสดงออกด้วยอารมณ์ด้านบวก หรือ ด้านของควาดีงาม  ตัวอย่างคำถามกลับเพื่อให้เด็กได้รู้ตัวและใคร่ครวญ     เช่น
เกิดอะไรขึ้นเล่าให้ครูฟังหน่อย?”
ตอนนี้เธอรู้สึกอย่างไร?”
เธอคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร?”
เธอคิดว่าควรทำอย่างไรที่ตัวเองจะสบายใจหรือคนอื่นจะ สบายใจ?”
เธอคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?”

            สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องตระหนักให้มากคือ  เราไม่สามารถตามไป   ชี้ทางหรือตามไปบอกเด็กว่าอะไรควรหรือไม่ควร  อะไรถูก หรือไม่ถูกได้ตลอดชีวิต  หลังจากที่ไปจากเราเด็กจะเป็นผู้เลือกด้วยตัวเอง  ในที่สุดการฝึกให้เด็กได้รู้ด้วยตัวเองอย่างนี้ จะทำให้เด็กมีความชำนาญในการที่จะกลับมารู้ตัวได้เร็วขึ้นทั้งกล้าหาญที่จะเผชิญความจริงอย่างองอาจ  เราต้องเชื่อว่าไม่มีพฤติกรรมใดๆ  เลวร้ายเกินกว่าที่จะให้อภัย  และไม่มีอุปนิสัยใดที่จะแก้ไขไม่ได้ตราบเท่าที่ให้โอกาสแบบไม่จำกัด
            อีกทางหนึ่ง  ครูกลับได้รับโอกาสดีที่ถูกท้าทายด้วยพฤติกรรมของเด็กๆ  ที่ทำให้ต้องหงุดหงิดฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดมันเป็น ได้ทั้งเครื่องทดสอบตัวเราเอง  และเครื่องขัดเกลาใจตัวเอง ไปด้วยในตัว

            ลดการล่อหลอกด้วยความอยากอันเป็นเงื่อนไขต่อความรัก
            เราอาจจะเคยได้ยินว่าพ่อแม่หรือครูบางคนที่บอกเด็กๆ  ว่าจะรักพวกเขาก็ต่อเมื่อพวกเขาทำตัวดีๆ   ความรักที่มีเงื่อนไข จะทำให้จิตแคบลงซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกบีบคั้นหากไม่ได้ดั่งใจที่คาดหวัง  ความอยากส่วนใหญ่เป็นความอยากในสิ่งที่ยังไม่มีจริงเป็นแค่สิ่งที่คาดหวัง  การล่อด้วยความอยากก็จะตามมาด้วยการแข่งขัน แย่งชิง  และการหมกมุ่นผูกมัดด้วยความอยากนั้น  เช่น  การบอกว่า  เธอต้องเรียนเก่งที่สุดจึงจะสอบเป็นหมอได้แล้วเธอจะร่ำรวยและมีชีวิตที่ดี”  
            ครูควรบอกเด็กๆ  ว่า  แม้สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้  ครูก็ยังรักและศรัทธาในตัวเธอ  หรือ  ไม่ว่าเธอจะเป็นอย่างไร  ครูยัง รักและศรัทธาในตัวเธอ  หรืออะไรทำนองนี้

            ลดการสร้างภาพของความกลัวเพื่อการควบคุม 
            ความกลัวกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาลาทำให้ ด็กเข้าสู่โหมดปกป้อง  หลบหลีกจากสิ่งที่จะทำให้เจ็บปวดสิ่งคุกคาม หรือ ภัยอันตราย  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้   เพราะทำให้เด็กไม่กล้าเผชิญกับสิ่งนั้น
            ความกลัวเกิดจากการได้เผชิญกับสิ่งนั้นจริงด้วยการได้เห็นได้ยิน  ได้สัมผัสจริง  เช่น  ถูกตี  ถูกดุด่า  ถูกคาดโทษ  ถูกช ตีตราว่าล้มเหลว  ถูกละทิ้ง  เพิกเฉยให้ไม่ได้รับความรัก  ฯลฯ  ต่อจากนั้นความกลัวส่วนใหญ่จะมาจากการสร้างภาพของความกลัวขึ้นมาโดยคนอื่นและตามมาด้วยการสร้าง จินตนาการ  ความกลัวของตนเอง  หรือบางครั้งความกลัวก็เกิดจากความไม่รู้
            ภาพของความกลัวถูกสร้างขึ้นในโรงเรียนนับร้อยพันอย่างส่วนใหญ่มีเบื้องหลังความคิดที่ต้องการควบคุม  เช่น  ถ้าส่งงานไม่ครบจะติด    ถ้าไม่ตั้งใจเรียนจะสอบตก  ติด  “0”   หรือ จะให้ติด  มส  เพราะเวลาเรียนไม่ครบ  ถ้าประพฤติไม่ดีจะถูกไล่ออก  แล้วเครื่องหมายตราบาปเหล่านี้ก็ติดไปกับหลักฐานทางการศึกษาและติดอยู่ในใจของเด็กตลอดไป ทั้งที่ถ้าพิจารณาในเชิงจิตวิทยาเชิงบวก  การกระทำของครูอย่างนั้นเป็นการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก 
            ครูมีหน้าที่ที่จะสร้างหนทางให้เด็กได้มีโอกาสแก้ไขสิ่งต่างๆ   ได้เสมอ  หรือแค่เพียงชิ้นงานที่ส่งมาแม้ไม่ได้ครบทุกชิ้น ครูก็สามารถประเมินอย่างรอบด้านเพื่อค้นหาความงอกงามได้แล้ว หรือ การที่เด็กไม่สามารถมาเรียนได้ก็สร้างโอกาส   ให้เขาได้เกิดการเรียนรู้ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมานั่งรวมกันต่อหน้าครูเสมอไป  เด็กทุกคนต้องการทางเลือกและโอกาส แบบไม่จำกัด  ครูมีหน้าที่อำนวยการให้เด็กรักที่จะเรียนรู้และอำนวยการให้เกิดการเรียนรู้ 
          
            ลดคำพูดด้านลบ 
            การพูดคำด้านลบ  เช่น  การปรามาส  การเย้ยหยัน  การดุด่า  การกดดัน  คาดคั้น  การล้อเลียนถึงปมด้อย  การตั้งฉายา  ล้วนแต่เป็นคำที่ให้อาหารหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ไม่ดีในจิตให้ ให้เติบโต  เช่น  ความกลัว  ความเกลียด  ความเศร้าหมอง ความรู้สึกด้อยค่า  เป็นต้น  ทั้งยังเป็นการฝังความไม่จริง เหล่านั้นลงไปในจิตใต้สำนึก  เพื่อให้มันส่งผลให้เป็นจริง  ในอนาคต  ดังประโยค  ที่ว่า  เมื่อเราคิด  เราพูด  เราจะเป็น

            เลิกใช้ความรุนแรง 
            ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของสัตว์ที่แสดงออกมา เพื่อความอยู่รอด  แต่มนุษย์ที่มีสมองส่วนหน้าซึ่งวิวัฒนาการมาใหม่กว่าสัตว์ใดๆ  เป็นสมองที่เรียนรู้และคอยกำกับเรื่อง   ความดีงาม  คุณธรรมจริยธรรมและการแสวงหาสัจจะสูงสุด   ด้วยสมองส่วนนี้มนุษย์จึงมีศักยภาพที่จะหยุดความรุนแรง  เราแต่ละคนมีหน้าที่หยุดสัญชาตญาณความรุนแรง  และการกดขี่ภายในจิตมนุษย์ด้วยการไม่ส่งต่อพฤติกรรมเหล่านั้นไปยังเด็กๆ  หรือคนรุ่นต่อๆ  ไป   
            สิ่งที่ควรทำสำหรับจิตวิทยาเชิงบวก 
            เพื่อให้อาหารแก่เมล็ดพันธุ์ดีในจิตให้งอกงาม  เช่น  ความรัก  การให้อภัย  ความเบิกบาน  ความสงบ  เมล็ดพันธุ์ปัญญา  ความสุข    เป็นต้น  การสร้างภาพพจน์ด้านบวกให้กับผู้เรียนทุกคนโดยการให้   ความรัก  ให้เกียรติ  รับฟัง  แสดงความชื่นชมเมื่อมีโอกาส  และสร้างโอกาสให้เด็กได้ทำงานสำเร็จด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ  ตั้งแต่การซักถุงเท้าเอง  หิ้วกระเป๋าเอง  ทำงานในหน้าที่ที่ครูมอบหมาย  เพื่อให้เด็กทุกคนรู้สึกได้ว่าตนเองมีคุณค่า  ได้รับความรักและมีความ   สามารถฝึกการสื่อสารระดับลึกโดยให้ความสำคัญกับการฟังอย่างลึกซึ้งผ่านเรื่องเล่าหรือนิทาน




 การปรับพฤติกรรมเชิงบวก  

            ต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่าพฤติกรรมมนุษย์ที่แสดงออกนั้น เป็นผลมาจากกระบวนการเรียนรู้และการหล่อหลอมมาจากอดีต  พฤติกรรมด้านลบที่แสดงออกมานั้นอาจสืบเนื่องจากการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาลาซึ่งจะแสดงออกอย่างอัตโนมัติเมื่ออยู่ในภาวะกังวล  ตระหนกหรือกลัว  ทั้งนี้เป็นไปเพื่อปกป้องตนเอง

            ส่วนพฤติกรรมที่แสดงออกมาจากการทำงานของสมองส่วนหน้าจะแสดงออกด้วยอารมณ์ด้านบวกหรือด้านของความดีงาม  แต่ด้วยการทำงานของสมองสองส่วนที่เป็นปฏิภาคกันนั่นคือเมื่อสมองส่วนหน้าทำงานส่วนอะมิกดาลาจะไม่ทำงานหรือแบบตรงข้ามกัน  เราจึงมีโอกาสที่จะฝึกฝนให้สมองส่วนหน้าได้ทำงานเพื่อให้เด็กๆ  ได้แสดงออกด้านบวกหรือด้านดีงามมากยิ่งขึ้น 

            ในการแก้ไขพฤติกรรมด้านลบต้องเริ่มต้นจากให้เชื่อว่าทุก    พฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้  โดยให้การเรียนรู้ใหม่  เป็นการเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมแบบใหม่  โดยให้รู้ตัว   ให้การเรียนรู้และให้การฝึกฝน  ซึ่งเป็นความสามารถของสมองส่วนหน้าอยู่แล้ว  เมื่อผ่านการเรียนรู้และการฝึกฝนก็จะกลายเป็นอุปนิสัย  นั่นคือเป็นพฤติกรรมใหม่ที่แสดงพฤติกรรมด้านบวกออกไปอย่างอัตโนมัติ

                        ให้การรู้ตัว  ต้องกระทำด้วยจิตใหญ่  คือ  เต็มเปี่ยมไปด้วย   ความรัก  ความเมตตา  พร้อมที่จะให้อภัย  และให้โอกาส แบบไม่จำกัด  เพราะพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกมาส่วนใหญ่ จะเป็นไปแบบอัตโนมัติ  เป็นไปโดยไม่รู้ตัวว่า  ผิด-ถูก  หรือ  ไม่รู้ว่าเหมาะสม-ไม่เหมาะสม  นั้นคือการไม่รู้ตัวว่า  ไม่รู้” การทำให้เด็กรู้ตัวเป็นบันไดขั้นแรกของการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขพฤติกรรม  ซึ่งอาจใช้วิธีการตั้งคำถามเช่น  เกิดอะไรขึ้นเล่าให้ครูฟังหน่อย?”  เธอกำลังรู้สึกอย่างไร?”  เธอคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร?”  การทำให้รู้ตัวเราไม่ควรชี้ถูกผิดหรือชี้โทษ  และไม่ควรใช้คำพูดในลักษณะตีตราการรู้ตัวโดยเฉพาะเมื่อรู้ตัวว่าทำไม่ถูกต้องก็เท่ากับการได้หยุดสมองส่วนอะมิกดาลาเพื่อให้สมองส่วนหน้าได้ทำงานขั้นต่อไป

                        ให้การเรียนรู้  คือการให้เด็กได้ใคร่ครวญกับสิ่งที่เกิดขึ้นครูอาจจะตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้คิดเทียบเคียงด้วยตนเองกับผลของการแสดงพฤติกรรมทั้งทางด้านบวกและด้านลบ ต่อเหตุการณ์นั้น  และควรถามเพื่อให้เด็กได้คิดเองว่า  จะแก้ไขสิ่งนั้นได้อย่างไร  หลังจากนั้นครูควรให้การเรียนรู้ที่ เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านลบนั้นผ่านเรื่องเล่าจากเหตุการณ์จริงที่เป็นผลของการแสดงออกต่อเหตุการณ์นั้น  ทั้งทาง ด้านลบและด้านบวก หรือ ละครปรับพฤติกรรม
                        ให้การฝึกฝน  หมายถึงการให้เด็กได้แสดงพฤติกรรมด้านบวกออกมาจริงๆ  ไม่ใช่แค่การพูด  โดยใช้พฤติกรรมแม่แบบในการชักนำ  โดยอาจเอาแม่แบบจากคนในสังคมที่เป็นแรงบันดาลใจ  พ่อแม่หรือครูก็ต้องเป็นแบบถูก  เช่น  เมื่อรู้ว่าร้านค้าทอนเงินให้เกิน  พ่อแม่ต้องแสดงให้เด็กได้เห็นว่าไม่ถูกต้องซึ่งต้องคืนเงินส่วนที่ได้รับเกินมา  เมื่อเห็นขยะ ซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นคนทิ้ง  เราก็ก้มเก็บไปทิ้งถังขยะเสียเอง แทนที่จะพร่ำบ่นหรือต่อว่าเด็กๆ  ที่อยู่ใกล้ๆ  บริเวณนั้น  เมื่อเด็กพูดไม่ถูกต้องหรือพูดคำไม่สุภาพครูไม่ควรผลีผลาม ตำหนิออกไปแต่ให้พูดสิ่งที่ถูกต้องแทนเพื่อให้เด็กได้พูดทวนคำที่ถูกต้องนั้น 
                        หรือขณะที่ครูกำลังสอนถ้ามีเด็กบางคนเล่นกัน  ไม่ตั้งใจเรียน   แทนที่ครูจะตำหนิเด็กคนนั้น  ครูจะใช้การชมหรือขอบคุณ  ผู้ตั้งใจเรียนแทน  เมื่อเด็กได้เรียนรู้ว่าจะแก้ไขพฤติกรรมด้านลบเหล่านั้นอย่างไรแล้วครูต้องสนับสนุนให้เขาแก้ไขสิ่งนั้นให้ลุล่วงด้วยตนเอง  แล้วให้การชื่นชม  การทบทวน  ฝึกฝน ยังต้องทำต่อไปอีกระยะ  ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าพฤติกรรมด้านลบนั้น ฝังอยู่ในจิตลึกเพียงใด 


                                  3. การใช้กิจกรรมจิตศึกษาเพื่อการฝึกฝน


การจัดกระทำผ่านกิจกรรมและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องของจิตศึกษา  กิจกรรมจิตศึกษามีการจัดใน  2  รูปแบบ  ดังนี้

            รูปแบบที่  1  จัดกิจกรรมในคาบเวลาของ  จิตศึกษา” 
            โรงเรียนสามารถจัดเวลาสำหรับทำกิจกรรมจิตศึกษาเพื่อมุ่งเป้าหมายพัฒนาปัญญาภายในให้กับผู้เรียนไว้โดยเฉพาะ  ซึ่งควรใช้ เวลาประมาณ 20 นาที  ก่อนเรียนในภาคเช้า  และ 15 นาที  ก่อนเริ่มการเรียนในภาคบ่าย  ทั้งนี้จะได้คุณค่าเพิ่มตรงที่กิจกรรมจิตศึกษายังเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งทางกายและใจให้กับผู้เรียนก่อนเรียนไปด้วยในตัว  และอีกช่วงหนึ่งอาจจัดตอนสิ้นวันโดยใช้เวลาประมาณสัก 20-30 นาที  เพื่อให้ทุกคนได้กลับมาสู่ความสงบกลับมาสู่ตัวเอง แล้วใคร่ครวญและสะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนมาทั้งวันก่อนการกลับบ้าน

          ตัวอย่างกิจกรรมจิตศึกษา

            -  กิจกรรมที่มุ่งเสริมสร้างพลังสงบ  ให้เกิดความสงบภายใน และการผ่อนคลาย  เช่น  ขณะทำกิจกรรมก็เปิดเสียงดนตรีที่มีลักษณะของคลื่นความถี่ต่ำเพื่อเหนี่ยวนำคลื่นสมองของเด็กให้มีความถี่ต่ำลง  การทำโยคะเพื่อบริหารอวัยวะ  ภายในและให้ได้อยู่กับลมหายใจ  การทำ  Body  Scan  ทั้งแบบยืน  นั่ง  หรือนอนเพื่อการผ่อนคลายแบบลึกและบ่มเพาะสิ่งที่ดีงามในจิตใต้สำนึก  หรือแม้กระทั่งการนวด ตัวเองหรือนวดกันและกัน  เพื่อส่งความรู้สึกดีต่อกัน
            -  กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดสติเพื่อให้เด็กมีความชำนาญในการกลับมารู้ตัวได้เสมอๆ  ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เด็กได้รู้เท่าทันอารมณ์  และการกระทำที่กำลังเกิดขึ้นใน แต่ละขณะ  เพื่อจะได้รู้ว่าควรหยุดหรือควรดำเนินกิจกรรมนั้นต่อ  ตัวอย่างกิจกรรม  เช่น  การเดินตามรอยเท้า  การกำกับกาย  การอยู่กับลมหายใจ การบอกการรับรู้จากประสาทสัมผัสขณะนั้น  การทำบอดีสแกนแบบยืน  นั่ง หรือนอน  การทำ  Brain Gym  หรือกิจกรรมจิตศึกษาที่   อยู่ในหน่วย  Home
            -  กิจกรรมฝึกสมาธิหรือการจดจ่อให้เด็กมีความสามารถ ในการคงสมาธิได้ยาวขึ้น  เพื่อกำกับความเพียรทั้งการเรียนรู้  และการทำงานให้สัมฤทธิ์ผล  เช่น กิจกรรมส่งน้ำส่งเทียน  ต่อบล็อก  Brian Gym  การจินตนาการเป็นภาพ การร้อยลูกปัด  การร้อยมาลัย  การพับกระดาษ  การวาดภาพ  การอ่านวรรณกรรม  การฟังนิทาน  หรือเรื่องเล่า  พิธีชา  พิธีจัดดอกไม้
            -  กิจกรรมที่มุ่งให้เห็นความเชื่อมโยงเห็นคุณค่าของตัวเอง   คนอื่นหรือสิ่งอื่น  ตัวอย่างกิจกรรม  เช่น  การสนทนากับต้นไม้  การเล่าข่าว  การค้นหาคุณค่าจากสิ่งที่ไร้ค่า  การขอบคุณสิ่งต่างๆ  การค้นหาต้นกำเนิดของตัวเราและสิ่ง    ต่างๆ  การพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมของตัวเองและสิ่งต่างๆ
            -  กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดการบ่มเพาะจิตสำนึกที่ดีงาม  นิทาน  เรื่องเล่าเพื่อการใคร่ครวญ  การใช้คำที่ให้พลังด้านบวก     การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่น การเดินทางไกล  การ อยู่ตามลำพังกับธรรมชาติ
            -  กิจกรรมที่มุ่งบ่มเพาะพลังความรักความเมตตา  เช่น  การ ไหว้กันและไหว้สิ่งต่างๆ  การกอด  การขอบคุณกันและขอบคุณสิ่งต่างๆ  การยกย่องชื่นชมความดีงามของคน     อื่นๆ  การร่วมกันชื่นชมศิลปะ

รูปแบบที่  2  การบูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจิตศึกษาในหน่วยการเรียนหลัก
            ศาสตร์ (เนื้อหา) / ตัวอย่างกิจกรรม
            1.  การเรียนรู้จักรวาลวิทยา  (Cosmology)  เพื่อให้เห็นหรือตระหนักรู้ว่าตัวเราเล็กนิดเดียว  โลกเราเล็กนิดเดียว  ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์จักรวาล ประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลก  และการ ผ่านช่วงเวลาต่างๆ  ของโลก  การกำเนิดสิ่งมีชีวิต  และการค้นหาเจตจำนงที่มีความหมายของการกำเนิดสิ่งต่างๆ  รวมทั้งตัวเอง 

ตัวอย่างกิจกรรม
            การดูดาว  ดูพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก  สารคดีการกำเนิดมนุษย์หรือการเกิดโลก  และจักรวาล  เรียนรู้เรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติ  เช่น   ฝนดาวตก  สึนามิ  แผ่นดินไหว 

            2.  การเรียนรู้และสัมผัสนิเวศแนวลึก  (Deep Ecology)  จะได้ตระหนักว่าจักรวาลหรือโลกคือศูนย์กลางไม่ใช่มนุษย์  สิ่งต่างๆ    มีคุณค่าในตัว  ไม่ได้มีคุณค่าเพราะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์  ทุกสิ่งมีประโยชน์  การนำสิ่งที่คิดว่าไม่มีประโยชน์มาสร้างให้เป็นประโยชน์  การดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ อย่างเป็นหนึ่งเดียว

ตัวอย่างกิจกรรม
            การดูนก  หรือการสังเกตพฤติกรรมพืช-สัตว์  การจัดการของเสียให้มีคุณค่า  การใช้ประโยชน์จากสิ่งพื้นๆ  การมองหาคุณค่าจากสิ่งที่ไม่มีค่า  การฟังเสียงจากธรรมชาติ

            ตัวอย่างความรู้สึกเชิงระบบนิเวศน์แนวลึก
            ใบไม้  ขอนไม้  ทิ้งเกลี่ยเรี่ยลาด  ต้นไม้หลากหลายพันธุ์เบียดแบ่งแสงกัน  เห็ดราซอนไซกับกิ่งใบไม้ผุ  เรียกหมู่มด  ปลวกแมลงมาหาอาหารและทำรัง  นกเล็กๆ  ก็พลอยมีอาหารและที่หลบภัย  แม้ว่าที่นี่จะเป็นที่รกเรื้อไร้ระเบียบ  แต่กลับเป็นระบบที่จัดการตนเองและเกื้อกูลกัน  เห็ดรารู้ว่าจะหาขอนไม้ผุได้จากที่ไหน  ส่วนมด  ปลวกก็ทำหน้าที่ตนเองโดยไม่มีใครสั่ง 

            3.  การร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร  เช่น  กิจกรรมทางศาสนา  พิธีกรรมบางอย่าง  กิจกรรมสวดมนต์  การภาวนาฝึกจิตภาวนาแบบทอเลน  (เปลี่ยนความเลวร้ายให้บริสุทธิ์  โดยหายใจเข้าเอาพิษร้ายแห่งความเกลียดชัง  ความกลัว  ความโหดร้ายเข้าไป  หายใจออกทดแทนความชั่วร้ายเหล่านั้นด้วยความดีงาม  เช่น  ความกรุณาและอโหสิกรรม)  การสร้างศรัทธาต่อชีวิตหรือบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายต่อตน  หรือ  กิจกรรมเสริมหลักสูตรนอกโรงเรียน เช่น  กิจกรรมเดินทางไกลเพื่อเพิ่มขีดความอดทนทั้งทางด้านจิตใจ  และร่างกาย  กิจกรรมการปลีกวิเวก (Retreat) ไกลจากผู้คน  ใกล้ชิด ธรรมชาติ  สงัด  สงบ  ลำพัง  เช่น  เข้าค่ายอนุรักษ์  ได้อยู่ในมุม เงียบๆ  ตามลำพังบนบ้านต้นไม้  การเดินทางไกล

            4.  การได้ปฏิบัติงาน  ศิลปะ  ดนตรี  หรือการละคร  เพื่อการเข้าถึงความรู้สึกอันละเอียดอ่อนด้านในของมนุษย์
            5.  การได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทางสังคม  จิตอาสา และการบำเพ็ญประโยชน์  เช่น  อาสาสมัครช่วยสอนหนังสือให้น้องในโรงเรียน หรือ โรงเรียนอื่นๆ  
            6.  การได้ใช้กิจกรรมในการรับรู้และการรับฟังอย่างลึกซึ้งที่เป็นการสื่อสารแนวราบ  เน้นการฟังอย่างมีคุณภาพไม่เน้นการตัดสินกระบวนการนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและเกิดปัญญาร่วม
            7.  การได้ทำกิจกรรมของหลักสูตรซ่อน  ซึ่งไม่มีการกำหนด  เป้าหมาย  เวลา  เครื่องมือ  หรือการวัดผลใดๆ  ไว้เลย  เช่น  งานอดิเรก  การเล่นอิสระ  การปะทะกับสังคมและสิ่งแวดล้อม  การกลับไปสู่วัยเด็กอันบริสุทธิ์ 


รูปแบบการทำกิจกรรมจิตศึกษา
ขั้นตอนกิจกรรมจิตศึกษา  20  นาทีก่อนเรียนภาคเช้า

กิจกรรมเริ่มต้น  (2-4  นาที)
            ครูและนักเรียนนั่งล้อมวงกลมเป็นวงเดียวเพื่อเปิดพื้นที่เข้าหากัน  เพื่อให้การแสดงออกต่อกันเป็นไปอย่างเปิดเผยด้วยภาษาพูดและ ภาษากาย  หากพื้นที่ไม่เพียงพอก็จัดให้เด็กๆ  นั่งตามเหมาะสม  แต่พยายามให้ทุกคนได้มองเห็นกันและกันให้มากที่สุดไม่เบียดชิดกันเกินไป หรือครูอาจจัดนอกห้องเรียนใต้ร่มไม้ที่มีพื้นที่โปร่งสบายให้ผู้เรียนทุกคนรู้สึกผ่อนคลายไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือถูกคุกคาม
            กิจกรรมเพื่อการมีสติ  ฝึกฝนให้กลับมารู้ตัวกับสิ่งที่ทำ  เช่น  กำหนดการรับรู้ที่ลมหายใจเข้าออก  รับรู้การเคลื่อนไหวของนิ้วหรือ   มือ  การรับฟังเพื่อแยกแยะเสียงธรรมชาติที่อยู่รอบตัว

กิจกรรมหลัก  (10-15 นาที)
            เป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายชัดเจน  เช่น  เพื่อให้เห็นความ สัมพันธ์ระหว่างตัวเองและสรรพสิ่ง  เพื่อการค้นลึกเข้าไปในตนแล้วสะท้อนตนเองออกมา  เพื่อให้เห็นคุณค่าของคนอื่นและการเคารพกันและกัน  เพื่อฝึกสมาธิ  เป็นต้น  และในการจัดกิจกรรมต้องเป็นกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์กันของกลุ่มคนที่ทำ

กิจกรรมจบ  (1-3 นาที)
ให้ทุกคนได้มีโอกาสขอบคุณคนอื่นหรือสิ่งต่างๆ  และให้ได้ มีโอกาส  Empower  กันและกัน


 ความสำคัญของกิจกรรมการขอบคุณ
อานุภาพแห่งการขอบคุณ
            การขอบคุณ  โดยแท้จริงก็คือการขอบคุณชีวิตเพื่อการมีชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกขอบคุณ  ขอบคุณธรรมชาติซึ่งให้ชีวิตอื่นที่เกื้อกูลเราอยู่  ขอบคุณผู้อื่นที่ทำเพื่อเราและให้เราได้มีโอกาสได้ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น  ขอบคุณแรงบันดาลใจที่ทำให้เรามีเจตจำนงที่จะทำสิ่งที่ดีงาม
            การขอบคุณ  เป็นการเริ่มต้นของการใช้พลังงานด้านบวก เมื่อเราเริ่มต้นขอบคุณอะไรสักอย่างหรือใครสักคน  เราจะรู้สึก หัวใจพองโต  อิ่มเอิบอบอุ่น
            กิจกรรมขอบคุณสามารถทำได้หลายช่วงเวลาเพราะใช้เวลาเพียงสั้นๆ  และควรเป็นกิจกรรมที่ดำเนินไปอย่างสงบเพื่อการขอบคุณจริงๆ

          ตัวอย่าง
            โรงเรียนฯ  จัดอาหารกลางวันให้เพียงพอทั้งปริมาณและคุณค่าเด็กๆ  ได้กล่าวคำขอบคุณข้าว

            ขอบคุณพ่อแม่ที่ให้กำเนิดเรามา  ขอบคุณโลกที่ให้เราได้อาศัยอยู่  ขอบคุณทุกคนที่ให้เราได้รับประทานอาหารในมื้อนี้เราจะรับประทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ขอบคุณครับ/ค่ะ

        รูปแบบกิจกรรม  Body  Scan

             Body  Scan  หรือการทำให้รับรู้ความรู้สึกที่ร่างกายเป็น กิจกรรมหนึ่งของจิตศึกษาเป้าหมายระดับต้นคือทำให้เด็กๆ  ผ่อนคลาย  ซึ่งความรู้สึกผ่อนคลายจะช่วยในการเรียนรู้ได้ดีกว่าความรู้สึกเครียดหรือกังวลใจ  Body  Scan  จะทำให้รู้สึกสงบ  คลื่นสมองจากความถี่สูงๆ  จะกลายเป็นความถี่ที่ต่ำลง  พอสงบคลื่นสมองต่ำก็ยิ่งเรียนรู้และการใคร่ครวญก็ดียิ่งขึ้น  ส่วนเป้าหมายระดับสูงขึ้นมาอีกก็คือการใช้  Body  Scan  เพื่อเป็นการฝึกฝนสติให้กับเด็กๆ  การฝึกฝนสติบ่อยๆ  จะทำให้เด็กๆ กลับมารู้ตัวไว หรือ ชำนาญมากขึ้นในการกลับมารู้ตัว
            คำว่า  สติ  ถ้าพูดกับเด็กๆ  ก็อาจจะเข้าใจยาก  ในระดับ   เด็กๆ  เราเรียกว่าการรู้ตัวBody  Scan  สามารถทำได้หลายแบบทั้งแบบยืน  แบบนั่ง   แบบนอน หรือ  แบบบางส่วนของร่างกายก็ได้  เช่น  เฉพาะใบหน้า  มือทั้งสองข้าง หรือ เฉพาะฝ่าเท้า  เป็นต้น
            ในขณะทำกิจกรรมครูจะใช้คำที่เหนี่ยวนำให้เด็กรับรู้ความรู้สึกไปทีละจุด  ถ้าทำกิจกรรมนี้ลึกลงไปอีกจะถึงขั้นการฝึกวิปัสสนาสำหรับเด็กได้เลยด้วยการให้เด็กได้เห็นความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  และดับไป  เช่น  ถ้ายืนนานๆ  แรงกดที่ฝ่าเท้าก็เริ่มทำให้เท้า      เราปวด  เพียงเฝ้าดูสักพักก็จะเห็นตัวการรับรู้ความรู้สึกนั้นเปลี่ยนไปหรือไม่ว่าความรู้สึกทางกายอื่นใดก็เช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นอาการคันที่ผิวหนัง  อาการเหน็บ  อาการปวดที่ต้นคอ  เป็นต้น  หากครูสามารถ    นำเด็กๆ  ไปต่อได้อีก  เด็กๆ  ก็จะเป็นไตรลักษณ์ในทุกๆ  สิ่ง
            การ Body Scan เป็นการดึงจิตกลับมาอยู่ที่ความรู้สึกทางกายไม่ให้ฟุ้งซ่าน  พอเด็กชำนาญการรู้สึกทางกายแล้ว  ก็สามารถฝึกฝนสู่การรู้ให้เท่าทันความคิดที่เกิดขึ้น  รู้เท่าทันความรู้สึกของอารมณ์อื่นที่เกิดขึ้น

          ขั้นตอนกิจกรรม  Body Scan  15-20  นาที
            1.  ขั้นเตรียม  1-2 นาที
            2.  ขั้น Scan  และใส่ข้อมูลที่ดี  10-20  นาที
            3.  ขั้นปลุก  1-2  นาที

ตัวอย่างการพูดเพื่อเหนี่ยวนำในการทำกิจกรรม  Body  Scan  แบบยืน

ขั้นเตรียม
            เชิญชวนทุกคนยืนแยกเท้าทั้งสองข้างออกพอประมาณช่วงไหล่  เพื่อทำให้การทรงตัวดีขึ้น  ปล่อยมือตามสบายแนบข้างลำตัว  หย่อนหัวไหล่เล็กน้อยให้หัวไหล่ผ่อนคลายแล้วปิดเปลือกตาลงอย่างผ่อนคลาย  หายใจเข้าออกยาวๆ  สักสี่ห้าครั้งเพื่อให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของลมหายใจและรับรู้ความรู้สึกสัมผัสที่ปลายจมูก  จดจ่อการรับรู้ที่ปลายจมูกขณะลมหายใจเข้าออกอีกสักพัก

ขั้น  Scan  และใส่ข้อมูล
            จากนั้นก็จับความรู้สึกไปที่เท้าทั้งสองข้างของตัวเอง  รับรู้สึกถึงจุดสัมผัสที่มีน้ำหนักกดลงไปบนฝ่าเท้าทั้งสองข้าง  เริ่มรู้สึกจุดสัมผัสไปที่นิ้วโป้ง  จับความรู้สึกไล่เรียงไปทีละนิ้วจากนิ้วเท้าซ้ายไปขวา  รับรู้ถึงน้ำหนักของเรา  ให้กระจายไปจนทั่วฝ่าเท้าจับความรู้สึกที่ข้อเท้า  รับรู้ถึงแรงตึงที่ข้อ  แรงกดของน้ำหนักตัวที่กดลงตรงข้อเท้าถัดจากนั้นขยับการรับรู้มาที่กล้ามเนื้อน่องทั้งสองข้าง  รู้สึกถึงความตึงของกล้ามเนื้อที่น่องทั้งสองข้าง  รับรู้สักพักก็ขยับมารับรู้ถึงแรงกดที่หัวเข่าทั้งสองข้าง  มีทั้งแรงกดและแรงตึงไล่ขึ้นมาที่กล้ามเนื้อขาท่อนบน  รู้สึกถึงแรงตึงของกล้ามเนื้อขา  ขยับมาที่บั้นเอวรับรู้แรงกดที่บั้นเอวแรงตึงของกล้ามเนื้อรอบๆ  บั้นเอว  ขยับขึ้นมารับรู้ที่ต้นคอ  สัมผัสและรับรู้ถึงแรงตึงที่กล้ามเนื้อต้นคอ
            (ใส่ข้อมูล)  ปล่อยให้ไหล่ผ่อนสบายๆ  และปล่อยให้ร่างกายของเรายืนอยู่ด้วยความสงบ  เบาสบาย  เพื่อให้เราได้รู้สึกขอบคุณ  ร่างกายของเรา  ขอบคุณเท้าทั้งสองข้างที่นำพาเราไปยังที่ต่างๆ  ตั้งแต่เล็กจนโต  ขอบคุณขาทั้งสองข้างที่ทำให้เรายืนขึ้นได้อย่างมั่นคง  ขอบคุณมือทั้งสองข้างของเราที่ช่วยทำสิ่งต่างๆ  ที่ดีงามให้เกิดขึ้นแก่โลกนี้  ขอบคุณทุกลมหายใจที่ยังอยู่กับเรา

ขั้นปลุก
            รับรู้ลมหายใจเข้าออกด้วยความสงบ  (ใช้เวลาช่วงนี้สักนาทีทุกคนลืมตาขึ้นด้วยความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย  หลังจากนั้นอาจทำ  Brain  Gym  หรือ กิจกรรมอื่นสั้นๆ  ที่เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายกลับมาใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง





ตัวอย่างการพูดเพื่อเหนี่ยวนำในการทำกิจกรรม Body Scan  แบบนอน

ขั้นเตรียม
            นอนหงายในท่าที่ผ่อนสบาย  แยกเท้าออกพอประมาณแล้ว  ปล่อยให้เท้าผ่อนในท่าที่สบาย  วางมือทั้งสองไว้ข้างลำตัวหงายฝ่ามือขึ้น  ปล่อยให้มืออยู่ในลักษณะกึ่งกำกึ่งเหยียดในท่าที่สบาย  เราปิดเปลือกตาลงเบาๆ  รู้สึกถึงการผ่อนคลายที่เปลือกตา  จากนั้นหายใจ เข้าลึกๆ  ปล่อยลมหายใจออกช้าๆ  หายใจเข้ารู้สึกสบายหายใจออก  รู้สึกผ่อนคลาย  เราเริ่มผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย

ขั้น  Scan  และใส่ข้อมูล
            ผ่อนคลายกล้ามเนื้อหัวคิ้ว  คิ้วที่ขมวดอยู่คลายออก  เรารู้สึกกล้ามเนื้อหัวคิ้วได้รับการผ่อนคลาย  เรารู้สึก  เบา  สบาย  อิ่มเอมมีความสุข  หลับสบาย  หลับลึกลงๆ  ทุกที  ผ่อนคลายกล้ามเนื้อแก้มทั้งสองข้าง  แก้มทั้งสองข้างของเราได้รับการผ่อนคลาย  เรารู้สึก  เบา  สบาย  อิ่มเอม  มีความสุข  หลับ สบาย  หลับลึกลงๆ ทุกทีผ่อนคลายกล้ามเนื้อคาง  คางของเราได้รับการผ่อนคลาย  เรารู้สึกเบา  สบาย  อิ่มเอม  มีความสุข  หลับสบาย  หลับลึกลงๆ  ทุกที ผ่อนคลายกล้ามเนื้อริมฝีปาก ปากของเราที่เม้มอยู่คลายออก  และผ่อนคลาย  เรารู้สึก  เบา  สบาย  อิ่มเอม  มีความสุข  หลับสบายหลับลึกลงๆ  ทุกที  (จากนั้นก็  Scan  ต่อไปที่ไหล่  แขนทั้งสองข้าง  มือ  กล้ามเนื้อหน้าอก  สีข้าง  แผ่นหลัง  ขาทั้งสองข้าง  ฝ่าเท้า)
            (ใส่ข้อมูล)  ปล่อยร่างกายของเราได้หลับอย่างสบายเพื่อให้เราได้รู้สึกขอบคุณร่างกายของเรา  ขอบคุณเท้าทั้งสองข้างที่นำพาเราไปยังที่ต่างๆ  ตั้งแต่เล็กจนโต ขอบคุณขาทั้งสองข้างที่ทำให้เรายืนขึ้นได้อย่างมั่นคง  ขอบคุณมือทั้งสองข้างของเราที่ช่วยทำสิ่งต่างๆ  ที่ดีงามให้เกิดขึ้นแก่โลกนี้  ขอบคุณทุกลมหายใจที่ยังอยู่กับเรา ขอบคุณทุกสรรพสิ่งที่เกื้อกูลเราอยู่  หายใจเข้าลึกๆและผ่อนลมหายใจออกช้าๆ  บอกตัวเองว่าเราเป็นคนที่น่ารัก  เป็นคนที่ยอดเยี่ยมเป็นคนที่รู้เวลาเป็นคนที่มีความรักที่ยิ่งใหญ่  บอกตัวเองว่าเราเป็นคนที่อดทนมุ่งมั่น  เสียสละ  และกล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่ดีงาม

ขั้นปลุก
            เราจะได้ยินการนับ  1-3  เพื่อให้เราเริ่มรู้สึกตัว  นับ  1  เรา    รู้สึกที่มือทั้งสองข้างของเรา  นับ  2  เรารู้สึกที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้างของเรา  นับ  3  เราค่อยๆ ลืมตา  ค่อยๆ  กระพริบตาเพื่อปรับสายตาเรา      เข้ากับแสงสว่างเราจะบอกตัวเองว่าเราจะตื่นมาพร้อมกับความสดชื่นความกระปรี้กระเปร่า  แล้วเราค่อยๆ  เอียงตัวลุกขึ้นนั่ง  เราช่วยดูแลเพื่อนข้างๆ  แล้วเราค่อยๆ  สะกิดคนข้างเรา  อย่างเบาๆ  เพื่อเป็นการรู้ตัว หลังจากนั้นอาจทำ  Brain Gym  หรือ กิจกรรมอื่นสั้นๆ  ที่เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายกลับมาใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง


ตัวอย่างกิจกรรม  Body Scan  จากการฟังการอ่าน

ขั้นเตรียม 
          ครูให้เด็กๆ  นอนในท่าที่สบาย  ปิดเปลือกตาลง ให้หายใจเข้าออกยาวๆ  สี่ถึงห้าครั้งเพื่อจับความรู้สึกที่ปลายจมูกที่ปรากฏชัด  แล้วจดจ่อเพื่อรับรู้ความรู้สึกที่ปลายจมูกอย่างต่อเนื่อง

ขั้น  Scan 
            ครูอ่านวรรณกรรมที่มีความยาวของเรื่องสักสิบนาที  หรือ    ถ้าเป็นเรื่องยาวมากก็อ่านเป็นตอนๆ

ขั้นปลุก
            ทำ  Brain  Gym  หรือ  กิจกรรมอื่นสั้นๆ  ที่เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายกลับมาใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง 



ตัวอย่างกิจกรรม  Body Scan  จากการฟังเรื่องเล่า
ขั้นเตรียม
            ครูให้เด็กๆ  นอนในท่าที่สบาย  ปิดเปลือกตาลงให้หายใจเข้าออกยาวๆ  สี่ถึงห้าครั้งเพื่อจับความรู้สึกที่ปลายจมูกที่ปรากฏชัด  แล้วจดจ่อเพื่อรับรู้ความรู้สึกที่ปลายจมูกอย่างต่อเนื่อง

ขั้น  Scan
            จินตนาการว่ามีลูกโป่งอยู่ที่ท้องของเรา  หายใจเข้าลูกโป่งที่ท้องของเราพองออกหายใจออกลูกโป่งแฟบลง  เราตามดูการพองและแฟบของลูกโป่งที่อยู่ตรงท้องเราสักระยะ  (ฝึกให้หายใจด้วยท้องเพื่อให้ปอดได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด)  เด็กๆ  รู้สึกผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย  ร่างกายของเรารู้สึกผ่อนคลาย จินตนาการว่า    เรากำลังเดินทางไปเที่ยวซึ่งตอนนี้รถไฟขบวนยาวจอดรอเราอยู่  รถไฟ มีตู้สีเขียว  ตู้สีแดง  ตู้สีเหลือง  และสีอื่นๆ  อีกมากมาย  ขอให้เด็กๆ เลือกขึ้นตู้รถไฟตามสีที่เด็กๆ  ชอบ  เมื่อขึ้นไปแล้วเราก็จะเห็นเก้าอี้สีเดียวกับตู้รถไฟ  เด็กๆ  เลือกที่นั่งตามชอบใจ  จะเป็นริมหน้าต่างด้านซ้ายหรือริมหน้าต่างด้านขวา  แล้วรถไฟค่อยๆ  เคลื่อนตัวช้าๆ  จากนั้นก็เร็วขึ้นๆ  รถไฟวิ่งผ่านทุ่งนาลมเย็นๆ  โชยมาปะทะใบหน้า    เราทำให้เรารู้สึกเย็นสบาย  เด็กๆ  มองออกไปนอกหน้าต่างจะเห็น    ทุ่งนากว้างยาวสุดสายตา  เห็นต้นไม้วิ่งสวนทางกับเรา  เห็นทิวเขา   ที่อยู่ไกลๆ  เห็นฝูงวัวกำลังตั้งใจกินหญ้าที่กลางทุ่งนา..(แล้วแต่จะ ให้เห็น)  รถไฟวิ่งผ่านภูเขา  เด็กๆ เห็นต้นไม้หนาแน่นขึ้น  บางต้น   ก็สูงใหญ่มาก  เห็นฝูงลิงกำลังปีนป่ายห้อยโหนอยู่บนกิ่งไม้..(แล้วแต่   จะให้เห็นแต่ต้องไม่เยอะเกินไปเพราะจะยากต่อการจดจำจนสับสน)  รถไฟวิ่งผ่านน้ำตก  น้ำที่ตกลงมากระเด็นมาโดนใบหน้าของเรา  ทำให้รู้สึกเย็นสดชื่นที่ใบหน้ารถไฟวิ่งผ่านทะเล  เด็กๆ  เห็นคลื่นทะเลกำลังม้วนตัวเล่นไล่จับกันขึ้นมาบนฝั่ง  เด็กๆ  ได้ยินเสียงคลื่นเวลาที่วิ่งขึ้นมาบนฝั่ง  เด็กๆ  มองเห็นหาดทรายที่ขาวสะอาด  เห็นปูกำลังวิ่งเล่นบนหาดทราย  รถไฟวิ่งผ่านทุ่งหญ้าสีเขียว  เห็นยอดหญ้ากำลังเต้นระบำ     กับสายลมอย่างมีความสุข  แล้วรถไฟพาเด็กๆ  กลับมายังโรงเรียนลงจากรถไฟอย่างมีความสุข  เราบอกกับตัวเองว่าเราเป็นคนที่น่ารักเป็นคนที่ยอดเยี่ยม  หายใจเข้ารับเอาความรักความอบอุ่นจากจักรวาล   เข้าไปในร่างกายของเรา  หายใจออกนำความรู้สึกที่ปรารถนาดีและนำความรักเผื่อแผ่ให้กับคนที่อยู่รอบข้างเรา  ให้กับทุกสรรพสิ่งในโลกนี้  เราบอกตัวเองว่าเรารักตัวเอง  รักทุกๆ คน  และทุกๆ คนก็รักเรา เราบอกตัวเองว่าเราเป็นคนที่ตั้งใจเรียน  รู้เวลา  มีความรับผิดชอบ 

ขั้นปลุก
            นับ  1  บอกตัวเองว่าเราน่ารัก  นับ  2  บอกว่าเราเป็นคนที่รู้เวลา  นับ  3  บอกว่าเราเป็นคนที่รักคุณพ่อ  รักคุณแม่  นับ  4  บอกว่าเรารักเพื่อนๆ  รักคุณครู รักทุกๆ  คน  นับ  5  ทุกๆ  คน ก็รักเรา  นับ  6  เราเป็นคนที่ตั้งใจเรียน  นับ  7  เราจะเล่นกับเพื่อนทุกคน  นับ  8  เราเป็นคนที่มีน้ำใจแบ่งของเล่นให้กับเพื่อน  นับ 9บอกตัวเองว่าเราเป็นคนที่มีความสุขที่สุดที่ได้มาโรงเรียนในวันนี้   นับ  10  บอกให้ตัวเองลุกขึ้นนั่งช้าๆ


รูปแบบพิธีชา

            พิธีชาเป็นกิจกรรมหนึ่งของจิตศึกษา  ซึ่งขั้นตอนการจัดพิธีชา หรือ  AAR  หลังเลิกเรียน  มีดังนี้
ขั้นเตรียม 
            ใช้กิจกรรมที่ทำให้มีสติ  เช่น  การดื่มนมหรือกินของว่าง  อย่างมีสติ  นอบน้อมและด้วยความขอบคุณต่อสิ่งที่ดื่มกินเข้าไป

ขั้นกิจกรรมหลัก 
            กิจกรรม  AAR (After Action Review)  เพื่อใคร่ครวญ  และ ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนมาทั้งวัน  หรือใคร่ครวญกับเหตุการณ์สำคัญในวันนั้น
            กิจกรรม  BAR (Before Action Review) เพื่อนัดหมายและการมองให้เห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในวันมาเรียนวันถัดไป

กิจกรรมจบ 
            ขอบคุณสำหรับวันที่ผ่านมา





 รูปแบบการทำหน่วยจิตศึกษา

ตัวอย่างการเรียนจิตศึกษา  หน่วย  Home”
(พัฒนาขึ้นสำหรับทำจิตศึกษาในตอนเช้าก่อนเรียนสำหรับ นักเรียนมัธยม 1-3)

เป้าหมายหลัก  :  เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าร่างกายของตัวเองคือบ้านอันแท้จริง  เป็นบ้านของจิตวิญญาณ  เป็นบ้านของจิตแห่งการ รับรู้  เป็นบ้านของความคิด  เป็นบ้านแห่งจักรวาลทั้งมวล  ถ้าบ้านหลังนี้ประกอบกันไม่สมบูรณ์หรือพัง  ทุกอย่างย่อมแตกสลายออกและเพื่อให้เด็กตระหนักได้ว่าต้องทำให้จิตวิญญาณ  จิตของการรับรู้ความคิด  ได้กลับมาบ้าน  ได้รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง  ได้ใคร่ครวญเห็นคุณค่าและความหมายที่จะทำอะไรลงไปสักอย่าง  ได้มีสติอยู่กับตนเองเสมอ  เสมือนนำจิตแห่งการรับรู้ได้กลับบ้านเสมอๆ  และได้เห็นความเป็นจักรวาลทั้งมวลที่อยู่ภายในเรา  การที่เด็กๆ  รู้สึกได้ว่าสิ่งต่างๆ  สัมพันธ์กัน  เชื่อมโยงกัน  มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านจิตวิญญาณอย่างยิ่ง  เป็นการลดอัตตาได้ทางหนึ่ง  ทำให้เด็กๆ  รู้สึกอยู่เสมอว่าตนเองไม่ใช่ศูนย์กลางที่ทุกๆ  สิ่งต้องมาสนองแต่ตัวเองเป็นเพียงหนึ่งในห่วงโซ่ที่มองไม่เห็น ทั้งยังได้เห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในสิ่งต่างๆ  เราสามารถหยิบฉวยสิ่งที่อยู่รอบตัวมาทำกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆ  เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ  ได้ง่ายๆ  เช่น เมื่อเห็นกิ้งกือก็ให้เด็กๆ  วาดความเป็นกิ้งกือออกมา  ครู ตั้งคำถาม  สิ่งที่เราเหมือนกันกับกิ้งกือคืออะไรบ้างหรือทำไมโลกเราจึงต้องมีกิ้งกือ  แล้วปล่อยให้เด็กๆ  ได้ตอบกันอย่างอิสระและให้ได้รับฟังคำตอบของกันและกันด้วย  โดยครูไม่จำเป็นต้องบอกคำตอบออกไป  บางครั้งก็ให้เด็กๆ  นั่งตามลำพังใต้ต้นไม้เพื่อฟังสิ่งที่ต้นไม้   บอกเล่า  แล้วเขียนออกมา 


ตัวอย่างกิจกรรมในหน่วย  Home
ตัวอย่างกิจกรรมที่  1  ก้าวเดินอย่างมีความหมาย
เป้าหมาย : เข้าใจและมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ  รอบตัว  หยุดครุ่นคิดกับการดำเนินชีวิต  เพื่อเข้าใจตนเองมากยิ่งขึ้น
กระบวนการดำเนินกิจกรรม
            นักเรียนและคุณครูนั่งรวมกันเป็นวงกลม  ครูขอให้นักเรียนนั่งทำสมาธิคนละ  2-3  นาที  โดยดูลมหายใจของตนเอง  หากกำลังคิดถึงสิ่งใดก็ขอให้ตามความคิดของตนไปเรื่อยๆ  ดูความคิดของตนเอง จนกว่าคุณครูจะให้สัญญาณกลับมารู้ตัว  ครูและนักเรียนร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกหลังจากที่ครูให้ทำสมาธิ

ครู  :  พี่ๆ  รู้สึกอย่างไรบ้างคะ  และใครได้ตามดูความคิด       ของตนเองบ้าง  พี่ๆ  คิดเรื่องอะไรและรู้สึกอย่างไร
พี่ฟ้า  :  หนูกลับไปที่บ้านค่ะ  คิดว่าแม่จะเกี่ยวข้าวเสร็จหรือยัง  เพราะที่บ้านกำลังเกี่ยวข้าว
พี่หญิง  :  หนูไปที่โรงพยาบาลค่ะ  หนูคิดว่าถ้าวันนี้หนู  ปวดท้องแล้วนอนโรงพยาบาล  แม่หนูก็ต้องไม่ได้มาทำงานที่โรงเรียน
พี่มายด์  :  หนูคิดถึงทะเลค่ะ  หนูอยากไปเที่ยวทะเลกับญาติๆ
พี่ฟิล์ม  :  หนูคิดถึงแม่ค่ะ  หนูอยากรู้ว่าแม่หนูกำลังทำอะไรอยู่ เหนื่อยไหม

ครูได้กล่าวขอบคุณทุกความคิดและความรู้สึกของพี่ๆ  ทุกคนจากนั้นก็ได้แจกกระดาษให้นักเรียนคนละครึ่งกระดาษ A4
ครู  :  ครูขอให้พี่ๆ  เดินคนละ  40  ก้าว  โดยเราจะไปเริ่มต้นการก้าวเดินที่บันไดหน้าบ้าน  .2  ของเรา  และให้อิสระในการเดิน  ซึ่งพี่ๆ  จะหยุดมองและเรียนรู้ก้าวที่เท่าไรก็ได้  แต่ให้ก้าวต่อจนครบ 40  ก้าว  จากนั้นให้กลับมาหาคุณครูที่บ้าน  .2  แล้วแต่ละคนช่วยเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้  ความรู้สึก  ความคิดหรือจะวาดภาพในก้าวที่ตนเองหยุด  ลงในกระดาษที่ครูแจกให้นะคะ   

นักเรียนทุกคนดำเนินกิจกรรม

เมื่อทุกคนกลับมาหาคุณครูที่บ้าน  คุณครูและนักเรียนนั่ง รวมกันเป็นวงกลม
ครู  :  ครูขอให้พี่ๆ  ช่วยเล่าความรู้สึก  ความคิด  และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการหยุดก้าวเดินของตนเองและหยุดก้าวที่เท่าไร  เชิญค่ะ

พี่กระถิน  :  หนูหยุดก้าวที่  20  ได้เห็นบรรยากาศของมัธยม เห็นธรรมชาติที่เขียวขจี
พี่ฝน  :  หนูหยุดก้าวที่  19  เพราะก้าวที่  19  ของหนูเหมือนเติบโตในขั้นที่ต้องเรียนรู้  สัมผัส  ปฏิบัติ  และในตอนนั้นหนูคิดว่าหนูเป็นผู้ใหญ่มากแล้ว
พี่นัป  :  ผมหยุดก้าวที่  20  มองไปรอบๆ  เห็นธรรมชาติอันล้ำค่า  แต่สำหรับบางคน  ก็ไม่เห็นค่าของมัน  และผมก็หยุดก้าวที่  25 ได้ยินเสียงน้อง  .1 ก็ยังดีกว่าอยู่คนเดียว  เราไม่ได้เดียวดายเสมอไป
พี่นก  :  หนูหยุดก้าวที่  18  เพราะวัยรุ่นเมื่อผ่านย่างก้าวที่  15-16-17   มักจะหยุดก้าวที่  18  เพราะวัยที่  18  เป็นวัยที่มีไฟลุกแรง  หนูจึงอยากหยุดก้าวนี้  วัยรุ่นส่วนใหญ่อาจจะหยุดด้วยความผิดพลาด  แต่หนูจะหยุดด้วยสติ  ความคิด  การเอาตัวรอด  หรือดูแลตัวเอง  ต้นหญ้า  ดอกไม้ที่อยู่รอบกายก็เปรียบเสมือนกับสิ่งรุมเร้า  ร้อนแรง  ที่ชักชวนให้เราหลงใหล  แต่อยู่ที่เราล่ะค่ะว่าจะมองมันให้      พอดีพองามหรือติดอยู่กับมัน
พี่ฟิล์ม  :  หนูหยุดก้าวที่  11  รู้สึกอยากที่จะหันมามองบ้านตัวเองอย่างจริงจังบ้างว่า  ที่บ้านเรามีอะไรแปลกใหม่  และที่สำคัญ      ไม่เคยหันมามองที่บ้านตนเองอยู่อย่างจริงจังเลยสักครั้ง  ถ้ามองก็แค่มองผ่านทั้งๆ  ที่เดินผ่านบ้านเดินขึ้นบ้านทุกวันและอีกอย่างอยากลองฟังเสียงพี่  .3  และน้อง  .1  ดูบ้างว่าเสียงจะเป็นเหมือนพวกเราไหมเพราะทุกๆ  ครั้งเสียงของพี่  .2  จะกลบเสียงพี่  .3  และ  น้อง  .1  หมดเลยค่ะ
ฯลฯ

เมื่อนักเรียนร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้สึกและความคิดของตนเองครบทุกคนแล้ว  ครูก็จะกล่าวขอบคุณทุกความคิดและความ  รู้สึกของนักเรียน  นักเรียนก็กล่าวขอบคุณซึ่งกันและกัน

ตัวอย่างกิจกรรมที่  2  ถึงฉันคนปัจจุบันจากฉันคนในอนาคต
เป้าหมาย  :  เข้าใจและมองเห็นการกระทำของตนเองรวมทั้งสามารถวิเคราะห์จุดเด่นและจุดด้อยของตนเองได้  เพื่อให้เกิดการรู้ตัว    และเข้าใจตนเองมากยิ่งขึ้น
กระบวนการดำเนินกิจกรรม
                 -  นักเรียนและครูนั่งรวมกันเป็นวงกลม  แล้วทำสมาธิคนละ  2-3  นาที  โดยดูลมหายใจของตนเองไว้ที่ปลายจมูก  จะหลับตาหรือ ไม่หลับตาก็ได้  เมื่อครบกำหนดเวลา  ครูจะให้สัญญาณกลับมารู้ตัว 
                -  ครูและนักเรียนร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกหลังจากที่ได้ทำสมาธิ  และครูกล่าวขอบคุณทุกความตั้งใจของนักเรียน  ทุกคน
               -  ครูแจกกระดาษให้นักเรียนแต่ละคน  (ในช่วงการส่งสิ่งของแต่ละคนจะรับไหว้ซึ่งกันและกันเพื่อเป็นการขอบคุณและเคารพให้  เกียรติกันอย่างนอบน้อม)
ครู  :  ครูมีคำถามอยู่  4  ข้อ  และให้พี่ๆ  แต่ละคนช่วยเขียน   คำตอบของตนเองลงไปในแต่ละข้อ
                   ข้อที่  1  ที่ผ่านมาตัวเองได้ใช้เวลากับเรื่องใดมากที่สุด
                   ข้อที่  2  สิ่งสำคัญที่เราพบจากเรื่องนั้นคืออะไร
                  ข้อที่  3  เราอยากได้รับการจดจำในเรื่องใด
                   ข้อที่  4  ให้นักเรียนเขียนจดหมายหาตนเอง  โดยให้เขียนถึงฉันคนปัจจุบัน  จากฉันคนในอนาคต  (ให้เวลาคนละ  5  นาที)
                  จากนั้นครูให้นักเรียนแต่ละคนร่วมแลกเปลี่ยนและนำข้อความที่เขียนลงในจดหมายของตนเองที่ละคน  ดังเช่น

พี่ตุ๊กตา  :  ถึงฉันคนปัจจุบัน
                  อยากบอกให้รู้หน้าที่ของตนเอง  มีความรับผิดชอบ  มีจิตอาสามีความเสียสละ  อยากให้รู้ถึงการแบ่งเวลาในการทำงาน  อยากให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น  ให้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่  เป็นใครมาจากไหน  พอใจในสิ่งที่ตนมี  ไม่ต้องไปอยากมีอยากได้เหมือนใคร  แค่เราทำวันนี้ของเราให้ดีที่สุดก็พอแล้ว  ยอมรับในสิ่งที่ตนเป็น  ไม่ต้องมโนเพ้อฝันไป ไกล  อยู่กับปัจจุบัน  เพราะอนาคตของเรามันไม่แน่นอน  ทำทุกอย่างให้เต็มที่ทำด้วยความอยากทำ  ไม่ใช่ถูกบังคับ  แต่ทำด้วยความพอใจ  เห็น  คนอื่นก่อนที่พูดมาไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า  แต่ก็จะทำให้เห็นถึงแม้จะไม่ดีเลิศแต่เราก็ทำด้วยความพอใจทำให้เต็มที่

พี่อ้อแอ้  :  ถึงฉันคนปัจจุบัน
                  อยากให้ฉันคนในปัจจุบันทำหน้าที่ของตนเองให้ดีกว่านี้  อย่าเล่นมาก  จริงจังกับชีวิตบ้าง  เผื่ออะไรจะดีขึ้นมาบ้าง  อนาคตจะเป็นแบบที่เราฝันได้ก็ต่อเมื่อเราลงมือทำในปัจจุบันขอแค่ให้ฉันคนปัจจุบันมีสติ  สมาธิ  อยู่กับตนเอง  อนาคตเรากำหนดได้ด้วยการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

พี่พิม  :  ถึงฉันคนปัจจุบัน
               ฉันอยากบอกตัวฉันเองว่า  ในปัจจุบันนี้จะทำอะไรให้คิด    ก่อนทำ  และทำให้ดีที่สุด  ส่วนเรื่องอนาคตก็อย่าไปหวังกับมันมาก  เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน  อย่าคิดว่าตนเองจะมีอนาคตเสมอไป  เพราะบางครั้งพรุ่งนี้อาจไม่มาอยู่กับเรา  จงคิดเอาไว้เสมอว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของตัวเราเอง  เพราะฉะนั้นทำปัจจุบันให้ดีที่สุด  ถ้าคุณคิดอยากจะทำอะไรก็ให้รีบทำตั้งแต่วันนี้  เพราะวันที่คุณต้องการหรือ กำหนดไว้อาจจะไม่มีวันนั้นสำหรับคุณก็ได้

คุณครูก็จะกล่าวขอบคุณทุกๆ  ความคิด  และความรู้สึกของ   นักเรียน  และนักเรียนก็กล่าวขอบคุณซึ่งกันและกัน


ตัวอย่างกิจกรรมที่  3  ต้นไม้แห่งชีวิต

เป้าหมาย  :  เพื่อฝึกการสังเกต  การมีสติ  จดจ่อ  รู้ตัว  และเห็นความสัมพันธ์ความเชื่อมโยงของตนเองกับสิ่งต่างๆ

กระบวนการดำเนินกิจกรรม
         -  ครูเปิดเพลง  spa  คลอเบาๆ  ให้นักเรียนนั่งเป็นวงกลม ทุกคนหลับตาสมาธิ  อยู่กับตัวเองและฟังเสียงธรรมชาติ  3-4  นาที 
ขณะที่นักเรียนนั่งสมาธิ  ครูนำกระถางต้นไม้ที่เตรียมไว้มาตั้งกลางวง
       -  ครูให้นักเรียนลืมตา  เมื่อนักเรียนเห็นกระถางต้นไม้ที่ตั้ง ไว้ด้านหน้า  ครูให้นักเรียนแต่ละคนสังเกตแต่ละส่วนของต้นไม้แล้วเลือกสังเกตจุดใดจุดหนึ่งบนกระถางต้นไม้โดยไม่คลาดสายตาใน  1  นาที  หลังจากนั้นนักเรียนแต่ละคนบอกจุดที่ตนเองสังเกตพร้อมทั้ง      อธิบายเหตุผลประกอบ
       -  ครูแจกกระดาษให้นักเรียนทุกคน  แล้วครูให้โจทย์นักเรียน     ให้คิดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้กับชีวิตถ่ายทอดเป็นภาพ   และข้อความ  แล้วนำเสนอภาพและข้อความให้เพื่อนและครูฟัง
คุณครูก็จะกล่าวขอบคุณทุกความคิดและความรู้สึกของ นักเรียน  และนักเรียนก็กล่าวขอบคุณซึ่งกันและกัน


ตัวอย่างกิจกรรมที่  4  เห็นฉันในเธอและเห็นเธอในฉัน

                กิจกรรมเห็นฉันในเธอและเห็นเธอในฉัน  โดยจัดให้เด็กๆ  จับคู่กันแล้วนั่งหันหลังพิงกันให้คนหนึ่งวาดภาพอะไรก็ได้ลงในกระดาษของตนเอง  แล้วบรรยายให้อีกคนวาดตามลักษณะที่ได้ยิน  หรือให้ ต่อตัวต่อให้เหมือนกันทุกประการโดยไม่ให้ดูแต่ฟังจากคำบอกเล่า หรือให้ทั้งคู่หันหน้าเข้าหากันและขยับกายแบบเดียวกันเสมือนภาพสะท้อนในเงากระจก  หรือ  ให้ทั้งคู่ค้นหาว่าอะไรที่ทำให้มีความสุข หรือทุกข์เหมือนกัน การที่เด็กๆ  เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ  กับตัวเอง  ยังนำไปสู่ความศรัทธาและนอบน้อมต่อสรรพสิ่ง  การที่จะทำให้เด็กๆ  เห็น       ความเต็มในความว่างเปล่าหรือการเห็นสิ่งต่างๆ  ในตัวเองต้องอาศัย  การมีสติ  รู้ตัว  ที่พรั่งพร้อมขณะที่มีสติจดจ่อกับปัจจุบันการใคร่ครวญ ด้านในก็จะเกิดขึ้น  เพราะในช่วงขณะนั้นสิ่งรบกวนข้างนอกก็จะไม่เข้ามา  การฝึกให้เด็กๆ  มีสติไม่ได้หมายถึงการให้เด็กๆ  นั่งสมาธิเท่านั้น  กิจกรรมอื่นๆ  เช่น  การเดินตามรอยเท้าที่อยู่บนพื้น  การใช้ไม้ยาวๆ  ขีดเส้นบนพื้นแล้วให้เด็กๆ  ได้ขีดเส้นซ้ำรอยเดิม  การส่งแก้วที่มีน้ำอยู่เต็มต่อๆ  กัน การติดตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย  การติดตามเรื่องราวที่ครูเล่า  การเล่าเรื่องต่อกัน  การทำโยคะ  การสแกนร่างกาย  ซึ่งกิจกรรมจะต้องไม่ให้เด็กรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม  หรือ  กำลังถูกควบคุม  ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากที่จะนำเด็กไปสู่การมีสติ  ครู ต้องมีสติรู้ตัวอยู่เสมอเช่นกันเพื่อให้น้ำเสียง  จังหวะการพูด  หรือจังหวะการเคลื่อนไหวทางกายภาพของครูสามารถดึงความสนใจของเด็กๆ  กลับมาสู่การมีสติได้เสมอ

   กิจกรรมฟัง

                “เมื่อสงบ  เราจะได้ยินเสียงของนกเจรจากัน  ได้ยินเสียงใบไม้ไหว  ได้ยินเสียงของเมฆเคลื่อนตัว  แล้วตอนนั้นเราจะได้ยินเสียงตัวเอง

1 ความคิดเห็น: